รายงานพิเศษ : กางข้อมูลวิทยาศาสตร์ พิสูจน์ชัด ๆ หาดดอนทะเล ต.คันธุลี อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี ถูกกัดเซาะหรือไม่ ทำไมต้องเร่งรัดสร้างเขื่อนกันคลื่น หวั่นกระทบทรัพยากร

 

ความจริงเเล้ว หาดดอนทะเล ต.คันธุลี อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี จำเป็นต้องสร้างเขื่อนกันคลื่นมูลค่า 70 ล้านบาทหรือไม่ ก่อนจะหาคำตอบก็ต้องย้อนกลับไปถามว่า เเล้วที่ผ่านมา หาดเเห่งนี้ถูกคลื่นกัดเซาะหรือไม่

เเน่นอนว่า ข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์เเละข้อมูลเชิงประจักษ์น่าจะตอบคำถามเหล่านี้ได้อย่างดี 

ผศ.ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ (มก.)บอกว่า ยิ่งข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์เเละเชิงประจักษ์ตรงกัน นั่นจะเป็นการพิสูจน์ว่า หาดดอนทะเลถูกกัดเซาะหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หาดเเห่งนี้มีความกว้าง 70-100 เมตร ซึ่งเอาเข้าจริง เรื่องราวของ 'ดอนทะเล' เหมือนเป็นตัวละครลับ หมายถึง อยู่ดี ๆ ก็โผล่ขึ้นมา ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้มีเฉพาะหาดสำเร็จเเละหาดสมบูรณ์ เท่านั้น

อ่านประกอบ 

ไม่เฉพาะดอนเล! ‘หาดสำเร็จ’ สุราษฎร์ฯ ถูกร้องด้วย สร้างเขื่อนกันคลื่นกระทบสิ่งแวดล้อม

เปิดข้อมูลเขื่อนกันคลื่น ‘หาดสมบูรณ์’ อ.ท่าชนะ สุราษฎร์ฯ ‘กรมโยธาฯ’ แจงจำเป็น 41 ปี กัดเซาะ 2 ม.

จะเห็นว่า การโผล่ขึ้นมาของหาดดอนทะเล ทำให้กลายเป็นกระเเสคึกคักมาก เเละด้วยหาดมีขนาดกว้าง จึงกลายเป็นที่จอดเรือ มีหอยเสียบ หอยขาว ดังนั้น หากเกิดโครงการอะไรบางอย่าง เเน่นอนว่า ไม่เฉพาะหอยหลายชนิดที่จะได้รับผลกระทบ เเต่ยังรวมถึงระบบนิเวศอื่น ๆ ต้องปรับตัวหรือสูญพันธุ์ไปเลย

ถามว่าที่่ผ่านมามีการกัดเซาะหรือไม่ 

นักวิชาการ มก. เปิดข้อมูลให้เห็นชัดเจนว่า เกิดการกัดเซาะสลับกับทับถม โดย 2 มี.ค. 2557-17 ม.ค. 2558 ถูกกัดเซาะ 40 ซม.ต่อปี

17 ม.ค.2558-5 เม.ย.2559 เกิดการกัดเซาะเกือบจะรุนเเรง 4.6 เมตรต่อปี (นิยามค่าความรุนเเรงจากกรมทรัพยากรทางทะเลเเละชายฝั่งอยู่ที่ 5 เมตรขึ้นไป) 

5 เม.ย. 2559-2 ก.พ. 2560 เกิดการทับถมเพิ่มขึ้น 7.4 เมตรต่อปี

2 ก.พ. 2560-17 ก.พ. 2561 เกิดการกัดเซาะ 2.8 เมตรต่อปี 

17 ก.พ. 2561-18 พ.ย. 2562 เกิดการทับถมเพิ่มขึ้น 4.4 เมตรต่อปี

18 พ.ย.2562-1 เม.ย. 2563 เกิดการกัดเซาะ 1 เมตรต่อปี

ทั้งนี้ หากมองดูในระยะยาวเท่าที่มีข้อมูลตั้งเเต่ปี 2557-2563 ไม่พบว่าหาดดอนทะเลถูกกัดเซาะ เเต่พบว่าถูกทับถมในอัตรา 3.32 เมตรต่อปี

ผศ.ดร.สมปรารถนา ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงงบประมาณในการดำเนินโครงการ 70 ล้านบาท ไม่ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงเกินจริง เพราะมีความใกล้เคียงกับโครงการในลักษณะเดียวกันอื่น ๆ เเต่ตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันงบประมาณปรับลดจากเดิมราว 71 ล้านบาท เหลือ 70 ล้านบาท โดยผูกพัน 4 ปี ตั้งเเต่ปี 2563-2566 ซึ่งไม่เเปลกอะไร เพราะงบประมาณสามารถปรับลดกันได้ 

หากปรากฎว่า จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการก่อสร้าง เเต่พบการเบิกจ่ายเงินงบประมาณไปเเล้ว ในปี 2563 จำนวน 10 ล้านบาท เเละปี 2564 จำนวน 18 ล้านบาท เเต่ไม่มีกิจกรรมใด ๆ เกิดขึ้นบนหาดดอนทะเล ถามว่า สองปีที่เเล้วเงินหายไปไหน?

ด้านอภิสรา เสมาพัฒน์ ชาวบ้านหาดดอนทะเล ต.คันธุลี อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวตอกย้ำให้เห็นผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการฯ ว่า หอยขาว ซึ่งเป็นเเหล่งสำคัญของ จ.สุราษฎร์ธานี จะหายไป เพราะที่ผ่านมา หาดดอนทะเลเป็นเเหล่งทำประมง จอดเรือประมง มีตลาดนัดชุมชน ใช้หาดทรายในการพักผ่อน หาหอยขาว หอยเสียบ  สร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ หากมีเขื่อน จะไม่มีหาดเเละหอยขาว

พร้อมกันนี้ ยืนยันว่า หาดดอนทะเลเคยมีปัญหาการกัดเซาะอย่างหนักในปี 2559 เท่านั้น ซึ่งเกิดมรสุมหนัก น้ำท่วม ประกอบกับน้ำทะเลหนุน เเต่หลังจากนั้นระบบนิเวศปรับตัวเข้าสู่สภาวะปกติ มีหาดทรายกว้างขึ้น งอกขึ้นทุก ๆ ปี  

 

"ตอนที่กรมโยธาธิการเเละผังเมืองเข้ามาทำประชาคม ไม่ได้เเจ้งให้ชาวบ้านทราบถึงผลเสียหรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จึงทำให้เวลานั้นชาวบ้านยอมรับ"  เธอระบุ

 

ก่อนขยายความว่า ตอนเเรกชาวบ้านเห็นด้วยกับโครงการฯ เพราะกรมโยธาธิการเเละผังเมืองไม่ได้บอกผลเสีย บอกเเต่ผลดี ทำให้ในความรู้สึกของชาวบ้านเชื่อว่าเกิดกัดเซาะจริง กลัวจะทำลายหลักโฉนดที่ดิน จึงรับโครงการนี้ไว้ กระทั่งเมื่อชาวบ้านไปเห็นโครงการลักษณะเดียวกันที่หาดสำเร็จ ต.ท่าชนะ อ.ท่าชนะ พบมีผลกระทบ จากเคยมีหาด เเต่หลังจากนั้นไม่นาน พอสร้างเสร็จ ผลกระทบกลับเกิดการกัดเซาะไปเรื่อย ๆ กลายเป็นว่าไม่มีหาดเเล้ว มีเเต่ดินโคลน เเตกต่างจากสมัยก่อน หาดสำเร็จตอนนั้นออกไปหาหอยราก เเต่ตอนนี้ไม่มีเเล้ว ทำให้กลุ่มอนุรักษ์หนองน้ำเเละชาวดอนทะเล จึงเกิดความรู้สึก ถ้าสร้างเขื่อนกันคลื่นจะทำร้ายจิตใจชาวบ้าน เราจึงไม่อยากได้เเละยืนยันไม่เอาเเล้วโครงการนี้

กรรณิการ์ เเพเเก้ว ผู้เเทนภาคประชาสังคม กล่าวเสริมว่า หอยขาว เป็นสัตว์ทะเลเด่นของหาดดอนทะเล มีลักษณะคล้ายหอยไฟเเละหอยตลับ เท่าที่สำรวจใน 7 อำเภอชายฝั่งของ จ.สุราษฎร์ธานี จะพบหอยขาวที่ อ.ท่าชนะ กับ อ.ไชยา เท่านั้น 

*****

พื้นชายหาดกว้างสวย อุดมไปด้วยทรัพยากร ชี้ชัดด้วยข้อมูลว่า ไม่ประสบปัญหากัดเซาะ ไฉนเลยรัฐจึงยัดเยียดโครงการเขื่อนกันคลื่น 70 ล. เข้ามา หากโครงการฯ เกิดขึ้นจริง ต่อไปภายภาคหน้า คำขวัญของ อ.ท่าชนะ คงไม่มีคำว่า "หอยขาวรสดี" อีกต่อไป เพราะถูกทำลายด้วยโพรเจกต์จากกรมโยธาธิการเเละผังเมืองนั่นเอง.

 

ล้อมกรอบ : คำขวัญ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี

หอยขาวรสดี คันธุลีทุเรียนเด็ด หาดสำเร็จเที่ยวสบาย ท่ากระจายผ้าไหมงาม เลื่องลือนามระกำหวาน ไหว้อังคารพุทธทาส ชมธรรมชาติเขาประสงค์ ลืมไม่ลงท่าชนะ .

 

อ่านประกอบ พลิกปูม 'เอส ซี จี 1995' สร้างเขื่อน 'หาดดอนทะเล' เคยคว้างานปรับภูมิทัศน์บึงขุนทะเล ก่อน สตง.ชี้เสร็จล่าช้า

 เปิดข้อมูล 'เอส ซี จี 1995' บ.รับจ้างสร้างเขื่อนกันคลื่น 'หาดดอนทะเล' สุราษฎร์ฯ

การดำเนินการโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์แหล่งท่องเที่ยวกลางเมือง(บึงขุนทะเล) ประจำปีงบประมาณ 2559

เปิดเบื้องลึกเขื่อนกันคลื่น 70 ล. ‘หาดดอนทะเล’ ก่อน ปชช.ค้าน-คนริเริ่มเสียชีวิตหมดแล้ว

ชาวคันธุลี สุราษฎร์ฯ ไม่เห็นด้วยเกินครึ่ง 155 ราย ต้านเขื่อนกันคลื่น 'หาดดอนทะเล'

อบต.คันธุลี เเจกเเบบสอบถามความเห็นชาวบ้าน สร้างเขื่อนกันคลื่น 'หาดดอนทะเล' หลังถูกค้านหนัก

เตรียมยกระดับต่อสู้! ชาวคันธุลี จ.สุราษฎร์ฯ เเถลงฉบับ 2 กรมโยธาฯ ต้องเลิกสร้างเขื่อนกันคลื่นหาดดอนทะเล

เปิดแผนกรมโยธาฯ ใช้งบฯ 3 ปี 71 ล. สร้างเขื่อนกันคลื่น ‘หาดดอนเล’ สุราษฎร์ฯ

ค้านกรมโยธาฯ สร้างเขื่อนกันคลื่นหาดดอนทะเล สุราษฎร์ฯ -ส.ส.ปชป.ชง 'ชวน' จี้มหาดไทยยับยั้ง

ใช้ Google Earth เปิดภาพ ‘หาดดอนเล’ สุราษฎร์ฯ หลัง ปชช.ค้านกำแพงกันคลื่น

คุ้มค่า? ‘พิธา’ อัดกรมโยธาฯ จ่ายเงินสร้างเขื่อนกันคลื่น กม.ละ 100 ล. เพื่อปกป้องถนนไม่กี่ล้าน