สืบค้นจากหนังสือราชการ! กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเคยแจ้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดกำชับ อปท. จัดซื้อเสาไฟประติมากรรม ห้ามแพงเกินจริง อยู่ในจุดเหมาะสม ออกแบบระยะติดตั้งตามมาตรฐาน หลัง สตง.พบความผิดปกติใช้งบฯ

ข้อเท็จจริงในขณะนี้ของโครงการก่อสร้างเสาไฟฟ้าประติมากรรมพร้อมอุปกรณ์ระบบไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พบว่า ในหลายพื้นที่ติดตั้งเสาไฟฟ้าไม่เหมาะสมกับสภาพภูมิทัศน์ ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ กรณีของ อบต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ที่มีการติดตั้งเสาไฟฟ้าถี่เกินไปและบางจุดไม่มีถนนตัดผ่าน

#ทีมข่าวออนไลน์ช่อง 8 ตรวจสอบพบว่า เมื่อปี 2561 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเคยมีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ขอให้เป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลและให้คำแนะนำแก่ อปท. ในการติดตั้งไฟฟ้าสาธารณะให้เป็นไปตามมาตรฐานการติดตั้งไฟฟ้าสาธารณะที่กรมส่งเสริมฯ กำหนด ภายหลังสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แจ้งว่า โครงการก่อสร้างเสาไฟฟ้าประติมากรรมฯ ในปีงบประมาณ 2560 ดำเนินการไม่เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ โดยเลือกรูปแบบที่มีราคาสูง ติดตั้งในจุดไม่เหมาะสม ทำให้เกิดการใช้จ่ายงบประมาณเกินความจำเป็น เกิดการชำรุดเสียหายไม่สามารถใช้งานได้

ด้วยเหตุนี้กรมส่งเสริมฯ จึงขอให้จังหวัดแจ้งกำชับให้ อปท.ดำเนินการติดตั้งเสาไฟฟ้าประติมากรรม ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ว่า

1.อปท.ควรเลือกพิจารณาเลือกรูปแบบของเสาไฟฟ้าแสงสว่างที่จะนำมาติดตั้งบนถนนให้เหมาะสมกับภูมิทัศน์ของท้องถิ่นและคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นสำคัญ สำหรับการติดตั้งเสาไฟประติมากรรมเพื่อความสวยงามหรือเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมของจุดติดตั้งตามการใช้ประโยชน์ในสวนสาธารณะหรือแหล่งท่องเที่ยวสำคัญและควรคำนึงถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจด้วย เนื่องจากการติดตั้งเสาไฟฟ้าประติมากรรมมีราคาสูงมากเมื่อเทียบกับราคาเสาไฟฟ้าปกติ

2.อปท.ควรดำเนินการติดตั้งเสาไฟฟ้าแสงสว่างบนถนนให้เป็นไปตามมาตรฐานไฟฟ้าสาธารณะของกรมส่งเสริมฯ และมาตรฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยมุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัยในการสัญจรของผู้ใช้ถนนในเวลากลางคืนเป็นหลัก มีรูปแบบการติดตั้งเสาไฟฟ้าสาธารณะตามแนวถนน ทางแยก วงเวียน เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด และการออกแบบระยะการติดตั้งเสาไฟฟ้าต้องมีการคำนวณระยะห่างของเสาไฟฟ้าตามสูตรที่กำหนดไว้ในมาตรฐาน เพื่อให้ได้ระยะห่างของเสาไฟฟ้าที่ให้ค่าความส่องสว่างที่เหมาะสมไม่สูงเกินไปกว่าความจำเป็นในการใช้งานในพื้นที่และมีทิศทางการส่องสว่างของแสงจากไฟส่องสว่างสาธารณะที่เหมาะสม ไปรุกล้ำไปยังพื้นที่ส่วนบุคคล ซึ่งอาจกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมถนน

3.อปท.ควรจัดให้มีการบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าแสงสว่างบนถนนตามมาตรฐานไฟฟ้าสาธารณะของกรมส่งเสริมฯ และมาตรฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง  โดยสั่งการให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานไฟฟ้าแสงสว่างบนถนนของ อปท. จัดทำแผนการตรวจสอบสภาพการใช้งานของระบบไฟฟ้าแสงสว่างที่ติดตั้งในพื้นที่ให้ครอบคลุมอุปกรณ์ทุกรายการ มีรอบระยะเวลาการบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะสายไฟฟ้าที่อาจเกิดการชำรุด ขาด หรือเสื่อมสภาพ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อประชาชนที่สัญจรผ่านบริเวณนั้น

พร้อมทั้งมีการจดบันทึกการตรวจสอบสภาพและปัญหาที่เกิดขึ้น หากพบว่ามีอุปกรณ์ชำรุดเสียหายต้องดำเนินการแก้ไข ซ่อมแซม หรือเปลี่ยนใหม่ให้กลับมาอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ตามปกติในทันทีและจัดทำประวัติการซ่อมเสาไฟฟ้าแต่ละต้นเพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการวางแผนการซ่อมแซมบำรุงรักษา เพื่อให้ระบบไฟฟ้าแสงสว่างอยู่ในสภาพดีพร้อมใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนช่วยให้ระบบไฟฟ้าแสงสว่างมีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น

อ่านประกอบ:อ้างโควิด-19! อบต.ราชาเทวะเลื่อนประชุมเพิ่มเสาไฟกินรี 720 ต้น

ส่องท่าที ป.ป.ช. ตอบความคุ้มค่า? งบฯ เสาไฟประติมากรรม

15 มิ.ย. สภา อบต. ราชาเทวะ เตรียมพิจารณาแผนติดเสาไฟกินรีเพิ่ม 720 ต้น

นายก อบต.ราชาเทวะ แจงซื้อเสาไฟกินรีอีก 720 ต้น แค่เเผน

นายกฯ อบต.ราชาเทวะไม่กังวลสอบเสาไฟกินรี ยันตอบได้ทุกคำถาม ตร.จ่อสอบบางประเด็นเพิ่ม

"ศรีสุวรรณ" ร้อง ป.ป.ช.สอบเสาไฟกินรี