เผย อบต.ราชาเทวะมีงบปีละ 400 ล.แบ่งพัฒนาพื้นที่ครึ่งหนึ่ง บอกชาวบ้านอยากได้เสาไฟ

นายทรงชัย นกขมิ้น นายก อบต.ราชาเทวะ ชี้แจงโครงการจัดซื้อเสาไฟประติมากรรมกินรี ของ อบต.ราชาเทวะ จ.สมุทรปราการ ที่ส่อแววการทุจริต เนื่องจากมีการตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าการจัดซื้อ ต่อตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ(บก.ปปป.) ซึ่งมี พ.ต.อ.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ รอง ผบก.ปปป.และ พ.ต.อ.พยงค์ เอี่ยมสกุล ผกก.3 บก.ปปป.ร่วมรับฟัง

 

 

นายทรงชัย เผยว่า รายได้ของ อบต.ราชาเทวะ มีรายได้มากกว่า 400 ล้านบาท ต่อปี ซึ่ง 200 ล้านบาท ถูกแบ่งสำหรับพัฒนาพื้นที่ โดยแต่ละปี จะมีคณะกรรมการจัดทำแผน ไปลงพื้นที่ ทำประชามติของชาวบ้านว่ามีความต้องการพัฒนาด้านใด ก่อนเสนอเข้าสู่แผนของโครงการ ซึ่งก่อนหน้านี้ มีผู้ร้องเรียนเรื่องดังกล่าวมานานแล้ว จนกระทั่งเมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมา ปปช.จังหวัดและภาค เคยเรียกไปสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับเสาไฟกินรี ตนก็ชี้แจงทุกอย่าง ๆ โปร่งใส มีที่ไปที่มาอย่างชัดเจน เริ่มตั้งแต่การประชาคม ที่ชาวบ้านอยากให้ อบต.ราชาเทวะ พัฒนาหรือสร้างอะไรขึ้นมาในชุมชน ซึ่งชาวบ้านได้เสนอมา 2 เรื่อง คือ เรื่องการทำถนนให้เป็นคอนกรีตกับเสาไฟฟ้า แต่ด้วยงบประมาณที่มีจึงทำได้เพียงเสาไฟฟ้าก่อน เมื่อได้ความต้องการของชาวบ้านแล้ว จึงนำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการแผนของโครงการ จากนั้นก็มีการออกแบบเสาไฟฟ้า และเสนอมาที่ นายก อบต.ซึ่งราคากลางของเสาไฟกินรี อยู่ที่ต้นละ 9.5 หมื่นบาท ส่วนบริษัทที่ได้จัดทำก็มาจากการ e-bidding อบต.ไม่เคยปิดกั้นบริษัทไหน ก็เปิดให้มาแข่งขันกัน แต่ถามว่าทำไมบริษัทนี้ได้อยู่รายเดียวตนไม่ทราบ เพราะเขาไปแข่งขันกันเอง

 

นายทรงชัย กล่าวว่า ส่วนกรณีเรื่องการติดตั้งเสาไฟถี่ หรือติดชิดกัน คณะกรรมการทีโออาร์เป็นผู้กำหนดว่า แต่ละต้นต้องติดห่างกัน 20 เมตร เอามาจากมาตรฐานการไฟฟ้า เพราะไฟฟ้าจะสว่างถึงกันหมด บางคนอาจสงสัยว่าทำไมบางจุดห่างกันไม่ถึง 20 เมตร หรือบางจุด 17 เมตร เพราะอยู่ที่บ้านประชาชน แต่บางต้นห่างกว่า 20 เมตร ก็มี ส่วนข้อคนหาว่ามีบางจุดไปติดตั้งไม่เหมาะสม เช่น ถนนลูกรัง หรือบ่อปลา ทางนายก อบต.ราชาเทวะ ก็ชี้แจงว่า พื้นที่ตรงไหนก็ยังไม่พัฒนาหรือเข้าไม่ถึง ตนก็จะไปทำให้ตรงนั้นเกิดการพัฒนา ยืนยันว่า ประเด็นที่ถูกร้องเรียน ตนเองยังมองไม่เห็นประเด็นผิดกฎหมาย หรือ ทุจริต จึงไม่หนักใจเลยสักนิดเดียว สามารถตอบได้ทุกคำถาม ส่วนทำไมต้องเป็นกินรี ก็เพราะอยากปรับภูมิทัศน์ให้สอดคล้องกับสนามบินสุวรรณภูมิ แขกบ้านแขกเมืองมา เขาจะชื่นชม ประเทศไทย

 

 

พ.ต.อ.พยงค์ กล่าวว่า การลงมาตรวจสอบครั้งนี้ มาดูว่าการจัดซื้อจัดจ้างสอดคล้องกับการจัดทำหรือไม่ ซึ่งจากที่ลงตรวจสอบ 2 จุด ทั้งที่พื้นที่โดยรอบบ่อสาธารณะ ไม่ใช่บ่อปลาตามที่ถูกกล่าวอ้าง จะเห็นว่าแต่ละต้น มีการตั้งเสาที่ค่อนข้างถี่ จึงได้นำตลับเมตรมาวัด พบว่าแต่ละต้นตั้งห่างกันระหว่าง 11-14 เมตรกว่า ขณะที่อีกจุดคือที่ ซอยลาดกระบัง 14/1 เป็นดินลูกรัง แต่มีการตั้งเสานั้น นายก อบต.ชี้แจงว่า งบใดมาก่อนก็สร้างก่อน แล้วถนนคอนกรีตจึงต่อตามมา พบว่าเป็นทางลึกเข้าไปกว่า 2 กิโลเมตร มีโรงงาน 1 แห่ง และบ้าน 1 หลัง ส่วนนี้ เจ้าหน้าที่ก็จะไปตรวจสอบว่า มีการทำประชาพิจารณ์หรือไม่ และคุ้มค่ากับการก่อสร้างหรือไม่ โดยจุดนี้ก่อสร้างเสาไฟ ระยะห่างตั้งแต่ 20 เมตรกว่า ขึ้นไป  หลังจากนี้ จะต้องนำเอกสารทั้งหมดมาตรวจสอบว่าการจัดสร้างเป็นไปตามขั้นตอนหรือไม่ คุ้มค่าหรือไม่  ถ้าพบว่าไม่สอดคล้อง ก็จะส่งเรื่องให้ ปปช.พิจารณาต่อ ซึ่งจะใช้เวลาพอสมควร เพราะเอกสารค่อนข้างมาก

 

 

จากการสอบถามชาวบ้านในพื้นที่ บอกว่า การเข้ามาติดตั้งแสงสว่าง ช่วยให้รู้สึกปลอดภัยมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาบางจุดไม่มีแสงสว่างเพียงพอ และอาจนำไปสู่เหตุอาชญากรรมได้ แต่ถามว่าคุ้มค่าหรือไม่ และจำเป็นต้องมีกินนารีอยู่บนเสาหรือไม่ ก็ไม่สามารถตอบได้