"ศุภมาส" บอกเราฝั่งเดียวกันนะคะ หลังอุเทนถวายนัดรวมตัวหลักพัน ยื่น อว.-จุฬาฯ-ทำเนียบ-สภา แจงปิดกระทรวง ไม่ได้หนี แต่ สั่ง ขรก.เวิร์คฟอร์มโฮม หวั่นมือที่ 3 ป่วน

วันที่ 27 ก.พ. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมกล่าวถึงกรณีที่เครือข่ายศิษย์ปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย นัดรวมตัวกัน 3,000 คน บุกทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการย้ายออกจากพื้นที่ กับนายกรัฐมนตรี กังวลหรือไม่ว่า ในส่วนของทำเนียบฯก็เป็นเรื่องของทำเนียบฯ แต่ในส่วนของกระทรวง อว.ได้เตรียมความพร้อมสำหรับดูแลผู้ที่มายื่นหนังสือ ไม่แน่ใจว่ามีจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งเคยรับน้องๆ กลุ่มนี้มาแล้วหลายครั้ง ซึ่งเมื่อมีกำหนดการได้ประชุมกับตัวแทนศิษย์เก่า 2-3 ครั้ง ทุกคนถือว่าต่างทำหน้าที่ที่ต้องทำ ไม่มีใครอยากให้เกิดความรุนแรง

"ผู้ยื่นหนังสือเองก็ไม่อยากให้เกิดความรุนแรง ทุกคนก็จะกลัวเรื่องมีผู้ไม่หวังดี บุคคลที่3 มือที่3 เขาก็ทำเอกสารมาเพื่อขอใช้เครื่องขยายเสียง ซึ่งเราก็อนุญาตไป เพราะถือว่าทุกคนอยู่บนประชาธิปไตย แล้วเขาก็บอกว่าจะทำเป็นสัญลักษณ์มา เพื่อบอกว่าพวกเขาจริงๆ นอกเหนือจากนี้ก็ไม่ใช่กลุ่มของเขา ซึ่งได้นัดแนะว่าจะมีใครเขามาบ้าง ยื่นตรงไหน และอยากให้ตัวรัฐมนตรีรับเอง ซึ่งดิฉันจะไปรับเอง"

ส่วนกังวลหรือไม่ที่สถานการณ์บานปลายถึงการนัดรวมตัวแล้ว รัฐมนตรี อว. ยืนยันว่า จริงๆ เขาไม่ได้มาครั้งแรก เดือนที่แล้วก็มา 300 คน เราก็จัดเก้าอี้เครื่องดื่มอาหารกลางวันให้น้องๆ ทุกคน ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย คิดว่าวันนี้เหตุการณ์ก็น่าจะเป็นอย่างนั้น แต่วันนี้เราไม่ได้เลี้ยงข้าวเพราะไม่แน่ใจว่าคนเยอะแค่ไหน แต่ว่าเราได้เตรียมเครื่องดื่มไว้ให้น้องๆทุกคน

ส่วนที่ อว. ออกมาทำหนังสือสั่งข้าราชการ WFH เพื่อป้องกันเหตุไม่พึ่งประสงค์ ลดการเผชิญหน้า หลายฝ่ายจึงตั้งคำถามว่าปิดกระทรวงหนีนั้น นางสาวศุภมาส ยืนยันว่า ไม่ใช่การหนี แต่เราไม่แน่ใจว่า มีกลุ่มมือที่ 3 หรือผู้ไม่หวังดีเข้ามาก่อเหตุหรือไม่ สมมติเฉยๆ เกิดมีใครปีนรั้วเข้ามา ซึ่งไม่ใช่กลุ่มผู้ชุมนุม ก็จะยิ่งวุ่นวาย ต้องป้องกันไว้ก่อนไม่ให้กลายเป็นการสร้างสถานการณ์ และเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้ประชุมกับกระทรวง และกลุ่มผู้ยื่นหนังสือหลายครั้ง คิดว่าทุกคนก็มาดี ทางน้องๆ ที่มายื่นหนังสือจริงๆ ก็คือกลุ่มที่ต้องทำบทบาทหน้าที่ของเขา ส่วนกระทรวงก็มีหน้าที่รับหนังสือ และตำรวจก็มีหน้าที่รักษาความปลอดภัย ซึ่งกระทรวงมีกล้องวงจรปิด มีสัญญาณอะเลิไปที่ห้องวอร์รูม และคิดว่าวันนี้น่าจะผ่านไปอย่างเรียบร้อย

นางสาวศุภมาส ระบุว่า เมื่อรับหนังสือมาแล้วต้องดูอีกทีว่าสุดท้ายข้อเรียกร้องมีอะไรบ้าง และส่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง คงไม่ใช่แค่คณะกรรมการเพื่อพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.) ที่เราได้ตั้งไว้ อาจจะต้องมาเพิ่มเติมตั้งกรรมการชุดใหม่เพิ่มคนเข้ามา เพื่อให้กรณีพิพาทเกิดข้อยุติ และมีความสบายใจที่สุด

"มท.ตะวันออก อุเทนถวาย อยู่ในสังกัดกระทรวง อว. เพราะฉะนั้นเขากับกระทรวงอยู่ฝั่งเดียวกัน เราไม่ได้เป็นม็อบที่เผชิญหน้ากันเหมือนม็อบอื่นๆ อันนี้ทางกระทรวงไม่ได้เรียกว่าม็อบ ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยในสังกัด มายื่นหนังสือถึงเจ้ากระทรวง เรามีหน้าที่ที่จะต้องดูแลในมิติทางสังคม เพื่อให้ทุกคนปฏิบัติตามกฎหมายแบบสบายใจ มีความสุข ไม่มีข้อขัดแย้ง ไม่มีเหตุความรุนแรง เป็นชนวนเกิดขึ้น และพยายามให้เป็นไปด้วยความละมุนละม่อมที่สุด และเราได้พูดกับฝั่งอุเทเสมอว่า เราฝั่งเดียวกันนะคะ เพียงแต่ว่าเราต้องทำตามกฎหมายที่ออกมา"

ส่วนรู้สึกอย่างไร อย่างที่ที่เจ้ากระทรวงถูกนำมาเป็นคู่ขัดแย้ง เพราะจบการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางสาวศุภมาส ระบุว่า พยายามบอกและคิดว่าทางอุเทนถวายก็เข้าใจ เพราะทุกครั้งที่ประชุมก็ถือว่าก็ย้ำว่า เราเป็นฝั่งเดียวกัน เพียงแต่มหาวิทยาลัยก็ไม่ใช่อุเทนถวายที่เดียวที่มายื่นหนังสือ ก็มีอีกหลายมหาวิทยาลัยที่มีปัญหาและมายื่นหนังสือ และปัญหานี้ก็ไม่ได้ขีดเส้น เพราะไม่ใช่ อว.กระทรวงเดียวแต่ต้องอาศัยองคาพยพอื่นมาร่วมกันแก้ปัญหาให้ความขัดแย้งและข้อพิพาทคลี่คลายมีทางออกที่ทุกคนพอใจ ซึ่งเจ้าของพื้นที่ได้พูดคุยกับอุเทนถวายหลายครั้งแล้วก็ต้องให้พูดคุยกันไป แต่ของเราคือในรูปแบบของคณะกรรมการเพื่อให้ปัญหานี้คลี่คลายโดยเร็ว