เปิดบันทึกการประชุม กมธ. ซักถามปมสร้างเขื่อนกันคลื่น ‘หาดสำเร็จ’ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ฯ หลังถูกร้องถนนเลียบชายฝั่ง ต้นเหตุถูกกัดเซาะ

 

การคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะลใน อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นโครงการของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย กำลังได้รับความสนใจจากสาธารณชน เมื่อมีการคัดค้านโครงการฯ ในพื้นที่หาดดอนทะเล ต.คันธุลี ความยาว 1,291 เมตร งบประมาณ 71 ล้านบาท

อ่านประกอบ

-ค้านกรมโยธาฯ สร้างเขื่อนกันคลื่นหาดดอนทะเล สุราษฎร์ฯ -ส.ส.ปชป.ชง 'ชวน' จี้มหาดไทยยับยั้ง

-ใช้ Google Earth เปิดภาพ ‘หาดดอนเล’ สุราษฎร์ฯ หลัง ปชช.ค้านกำแพงกันคลื่น

ทีมข่าวออนไลน์ช่อง 8 ตรวจสอบพบข้อมูลสำคัญ ว่าการคัดค้านโครงการฯ ไม่ได้มีเฉพาะพื้นที่หาดดอนทะเลเท่านั้น แต่ยังมีพื้นที่หาดสำเร็จ และหาดสมบูรณ์ ของ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี อีกด้วย โดยเครือข่ายอ่าวบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี และผู้แทนชุมชน ได้ยื่นเรื่องถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีผ่านศูนย์ดำรงธรรม แต่ต่อมาได้ถอนหนังสือร้องเรียนออก เพราะถูกข่มขู่จากผู้สนับสนุนโครงการฯ

โดยในครั้งนี้ จะขอนำเสนอข้อมูลจากบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาคลื่นทะเลกักเซาะชายฝั่งและการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลอย่างเป็นระบบ สภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 15 เมื่อวันที่  15 ก.พ. 2564 เกี่ยวกับหาดสำเร็จ ต.ท่าชนะ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี

ผู้แทนจากกรมโยธาธิการและผังเมือง ชี้แจงต่อที่ประชุมฯ ว่าองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)ท่าชนะ ได้มีหนังสือที่ สฎ 76805/109 ลงวันที่ 18 มี.ค. 2563 ไปยังสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างโครงการฯ ซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ประกอบการจัดทำแผนงานหรือโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ระบุให้พื้นที่ท่าชนะ สามารถใช้มาตรการสีขาว สีเขียว และสีเทา และสามารถใช้แนวทางป้องกันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้

โดยการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ได้นำเสนอข้อมูลทางเลือกรูปแบบเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมทั้งข้อดีข้อเสีย จำนวน 6 รูปแบบ ได้แก่ การเสริมทรายชายหาด เขื่อนถุงทราย เขื่อนหินใหญ่เรียง เขื่อนหินเกเบียน เขื่อนกำแพงคอนกรีตกันคลื่น และเขื่อนคอนกรีตขั้นบันได และได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมที่มีข้อสงสัยหรือข้อเสนอแนะได้มีโอกาสซักถามและแสดงความคิดเห็น โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 161 คน เห็นด้วยกับรูปแบบเขื่อนหินใหญ่เรียงมากที่สุด ร้อยละ 79.30  ผู้เข้าประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการ ร้อยละ 86 และเห็นด้วย แต่มีความวิตกกังวล ร้อยละ 10.70

ทั้งนี้ รูปแบบของโครงการมีระยะทาง 1,000 เมตร โครงการหลักเป็นเขื่อนหินเรียงประชิดแนวเขื่อนหินทิ้งเดิม มีทางลาดและบันไดขึ้นลงชายหาด แนวเขื่อนวางยาวต่อเนื่องไปตามแนวชายฝั่งและขนานไปตามแนวถนน

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการได้ตั้งข้อซักถามที่สำคัญและหยิบยกมานำเสนอ คือ เหตุใดจึงไม่ป้องกันและแก้ไขปัญหาการกักเซาะชายฝั่ง โดยใช้วิธีการเสริมทรายชายหาด โดยนำทรายจากพื้นที่ใกล้เคียงมาเติม ซึ่งผู้แทนจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตอบว่า การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง โดยวิธีการถ่ายเททราย จะต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น โดยวิธีประชาพิจารณ์ ซึ่งเป็นแนวทางที่ต้องหารือร่วมกัน เพื่อสร้างความเข้าใจในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง

อีกทั้งประเทศไทยดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นไม่ครบตามรูปแบบ เนื่องจากในความเป็นจริง การก่อสร้างรูปแบบการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งลักษณะดังกล่าวต้องทำควบคู่กับการเสริมทรายชายหาด ซึ่งอาจมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ เป็นต้น

สำหรับหาดสำเร็จ ต.ท่าชนะ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี ได้รับการร้องเรียนว่า การสร้างถนนเลียบชายฝั่งในปี 2555-2561 เป็นสาเหตุสำคัญที่ให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่ง โดยพื้นที่ดังกล่าวไม่มีบ้านเรือนของประชาชน แต่มีเพียงสวนมะพร้าวและถนนเลียบชายหาด ดังนั้น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งควรประกาศ ไม่ให้ใช้โครงสร้างในพื้นที่หาดสำเร็จและหามาตรการอื่นที่ไม่ใช่โครงสร้างแข็ง เช่น การวางโครงสร้างชั่วคราว การกำหนดแนวถอยร่น และการย้ายถนน เป็นต้น เพื่อเป็นการคงสภาพชายหาดที่สมบูรณ์ไว้

อ่านประกอบ เปิดแผนกรมโยธาฯ ใช้งบฯ 3 ปี 71 ล. สร้างเขื่อนกันคลื่น ‘หาดดอนเล’ สุราษฎร์ฯ

คุ้มค่า? ‘พิธา’ อัดกรมโยธาฯ จ่ายเงินสร้างเขื่อนกันคลื่น กม.ละ 100 ล. เพื่อปกป้องถนนไม่กี่ล้าน