กทม.ยังไม่พร้อม "วอล์กอิน" ฉีดวัคซีน เหตุรอวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุขอยู่

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย แถลงถึงประเด็นการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 แบบวอล์ก อิน (Walk in) ตามที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. ให้ข้อมูลว่า การเข้ารับฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของประชาชน สามารถดำเนินการได้ใน 3 รูปแบบ คือ

1.ลงทะเบียนจองผ่านแพลตฟอร์มหมอพร้อม
2.โรงพยาบาลเป็นผู้นัดผู้ที่มีประวัติ 7 กลุ่มโรคเสี่ยง และผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี
3.ให้แต่ละจังหวัดพิจารณาการวอล์คอิน (walk in) หรือไม่ก็ได้

ร.ต.อ.พงศกร กล่าวว่า "ในส่วนของกทม.จะพยายามใช้การนัดหมายให้มากที่สุด เพื่อการตรวจสอบข้อมูลของผู้เข้ารับวัคซีนได้ ลดความแออัด และทำให้เราบริหารจัดการวัคซีนที่ได้รับจัดสรรจากกระทรวงสาธารณสุขได้ โดยขณะนี้ กทม. ยังไม่ได้รับการจัดสรรเพิ่มเติม ซึ่งคาดว่า สธ.จะมอบมาให้ในเร็วๆนี้"

ขณะนี้อยากให้จองผ่านระบบหมอพร้อมก่อน ตามที่ สธ. ประกาศให้เริ่มฉีดในวันที่ 7 มิ.ย.สำหรับประชาชน 2 กลุ่มแรกก่อน คือ ผู้อายุมากกว่า 60 ปี และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค ซึ่งถ้าเราได้ปริมาณวัคซีนที่มากขึ้น เราจะพิจารณาขยายกลุ่มเป้าหมาย และในส่วนของการวอล์ก อิน จะต้องสอดคล้องกับปริมาณวัคซีนที่เราได้รับจาก สธ. ดังนั้น ตอนนี้เราจึงเน้นให้จองในหมอพร้อมก่อน” ร.ต.อ.พงศกร กล่าว

ด้าน พญ.ป่านฤดี กล่าวว่า การบริหารจัดการวัคซีนของ กทม. มีคณะอนุกรรมการบริหารวัคซีน ที่มี พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ด้วย เช่น โรงพยาบาลเอกชน รพ.สังกัดกระทรวงกลาโหม รพ.กรมการแพทย์ ประชุมหาแนวทางให้บริการวัคซีน ดังนั้น การจะวอล์ก อิน หรือไม่ จะต้องนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมก่อน
ทั้งนี้ กทม. เป็นพื้นที่สีแดงเข้ม การวอล์ก อิน อาจจะทำให้เป็นการรวมกลุ่มคน หากควบคุมไม่ได้อาจจะเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อได้ และเรายังมีประกาศไม่อนุญาตให้มีการรวมกลุ่มคนหมู่มากด้วย

“ความต้องการวัคซีนของคนในแต่ละที่ไม่เหมือนกัน อย่างเช่นในต่างจังหวัดก็อาจจะมีความต้องการที่น้อยกว่า กทม.ที่มีการแพร่ระบาดมาก คนก็ต้องการวัคซีนมาก ดังนั้น หากเราจะวอล์กอินได้ ต้องคิดอย่างรอบคอบ เพราะมีความเสี่ยง” พญ.ป่านฤดี กล่าวและว่า ตอนนี้ระบบการบริการให้วัคซีนของ กทม. จะมีใน 4 ลักษณะคือ

1.โรงพยาบาล นัดฉีดให้กับผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเสี่ยงและผู้สูงมากกว่า 60 ปี ที่เราเปิดสล็อตให้จองฉีดกับ รพ. แล้ว 126 แห่งสำหรับ 6 แสนกว่าราย ขณะนี้ผ่านมา 2 สัปดาห์ มีผู้ลงทะเบียนประมาณครึ่งหนึ่ง รวมถึงบริการ “กึ่งวอล์ก อิน” สำหรับผู้ป่วยที่เข้ามารักษาพยาบาลโรคอื่นๆ ก็จะได้รับการสอบถามเพื่อฉีดวัคซีนตามความสมัครใจด้วย

2.ได้รับความร่วมมือจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่จะเปิดจุดฉีดวัคซีน รวมแล้ว 15 จุด ที่สามารถจองวัคซีนได้ อย่างเช่น ห้างสรรพสินค้าที่จับคู่โรงพยาบาลทุกสังกัด มีทั้ง รพ.รามา รพ.จุฬาฯ รพ.เครือบางปะกอก รพ.ศิริราช วชิระพยาบาล เป็นต้น ซึ่งทำให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า จะมีหน่วยบริการจากโรงพยาบาล มารองรับการฉีดในห้างได้ อย่างที่เมื่อวานนี้ (12 พ.ค. 2564) มีการเปิดจุดบริการฉีดที่เซ็นทรัลลาดพร้าว

3.ความร่วมมือจากประกันสังคม ฉีดวัคซีนสำหรับผู้ประกันตน ข้อมูลที่รับรายงานจากนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ที่ขอวัคซีนไว้ประมาณ 3 ล้านโดสทั่วประเทศ แต่อยู่ในกรงเทพฯ อย่างเดียวก็ 1 ล้านโดส โดยจะมี รพ.สังกัดของประกันสังคม จะนำวัคซีนไปฉีดให้กับพนักงานในบริษัทห้างร้าน เช่น ตามโรงงานต่างๆ

4.หน่วยเคลื่อนที่เร็วของสำนักอนามัยกรุงเทพฯ จะเป็นการฉีดเชิงรุกเพื่อการควบคุมโรครวมถึงการฉีดในกลุ่มเปราะบาง เช่น บ้านผู้สูงอายุบางแค ที่เราได้ดำเนินการไปแล้ว นอกจากนั้น ยังมีกลุ่มที่จะต้องได้รับวัคซีนตามความจำเป็น เช่น ผู้ที่มีอาชีพเสี่ยง อาชีพสาธารณะ เราก็จะดูแลและดำเนินการให้ ซึ่งกลุ่มนี้จะไม่ต้องไปรอจองวัคซีน เพราะต้องจัดสรรการฉีดไปให้เร็วที่สุด