กรมราชทัณฑ์ แจง กรณีห้ามจำหน่ายบุหรี่ในเรือนจำทั่วประเทศ ชี้ เป็นนโยบายที่ช่วยลดปัจจัยคุกคามของโรค ลดผลกระทบต่อผู้ต้องขังที่ไม่สูบ

(5 ก.ย. 2563) พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่นายศรีสุรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินทางมายื่นคำร้องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรม เพื่อพิจารณาสั่งการให้กรมราชทัณฑ์มีการทบทวนหรือยกเลิกนโยบายที่ห้ามจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาสูบและหรือยาเส้น ในร้านสงเคราะห์ผู้ต้องขังในเรือนจำหรือในทัณฑสถานทุกแห่งทั่วประเทศ เนื่องจากอาจไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการเพราะบุหรี่หรือยาเส้นมิได้เป็นสิ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อีกทั้งเชื่อว่าการบังคับให้บุคคลเลิกสูบบุหรี่ไม่สามารถทำให้เลิกได้ในเวลาอันรวดเร็ว จึงอาจเป็นการเปิดช่องทางให้เจ้าหน้าที่ลักลอบนำเข้ามาจำหน่ายในเรือนจำ นั้น

กรมราชทัณฑ์ ขอเรียนว่า ก่อนที่จะมีนโยบายเลิกจำหน่ายบุหรี่ในเรือนจำได้มีการสำรวจผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศติดบุหรี่ถึง 40 เปอร์เซ็นต์และส่งผลกระทบต่อผู้ต้องขังที่ไม่สูบบุหรี่เพราะสภาพภายในเรือนจำค่อนข้างแออัด เมื่อมีนโยบายดังกล่าวเกิดขึ้นก็พบว่ามีผู้ต้องขังที่เจ็บป่วยด้วยระบบท่างเดินหายใจลดลง ลดปัจจัยคุกคามของโรคในกลุ่มผู้ต้องขังป่วยรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดสมองตีบ ส่งผลให้ลดภาระทางการรักษาพยาบาลลงอย่างมาก ซึ่งก็เป็นประโยชน์แก่ตัวผู้ต้องขังเองและเป็นโอกาสที่เหมาะสมในการเลิกบุหรี่

นอกจากนี้ นโยบายดังกล่าวได้มีการหารือร่วมกันหลายฝ่าย มีการวางแนวทางอย่างถูกต้องและมีโครงการนำร่องเพื่อทดสอบความเหมาะสมในการลด ละเลิกบุหรี่ของผู้ต้องขังโดยมีกระบวนการรณรงค์เลิกสูบบุหรี่มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2547 จนถึงปี พ.ศ. 2562 จึงได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ตามราชกิจจานุเบกษา เรื่อง กำหนดเพิ่มเติมสถานที่ห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2562 ณ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งการยกเลิกการจำหน่ายยาสูบและหรือบุหรี่ยาเส้นภายในเรือนจำ/ทัณฑสถานทั่วประเทศดังกล่าว มีการรณรงค์อย่างค่อยเป็นค่อยไป ได้มีการดำเนินการรวดเร็วแต่อย่งใด

อีกทั้งในเรือนจำก็ยังมีสถานพยาบาล และเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างใกล้ชิด ทำให้การเลิกบุหรี่ส่งผลกระทบต่อผู้ต้องขังน้อยที่สุด และในส่วนที่กล่าวว่าอาจเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ลักลอบนำมาจำหน่ายในเรือนจำนั้น ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ก็ไม่สมารถสูบบุหรี่หรือนำบุหรี่เข้าภายในเรือนจำ/ทัณฑสถานได้ ซึ่งหากมีการลักลอบเกิดขึ้นการกระทำดังกล่าวมีความผิดทางกฎหมายและผู้ที่ลักลอบนำเข้าจะต้องถูกดำเนินการทางวินัยอย่างถึงที่สุด

พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ขอให้ประชาชน และทุกฝ่ายมั่นใจได้ว่านโยบายดังกล่าวดำเนินการไปด้วยความหมาะสม เป็นไปตามกฎหมาย และเกิดประโยชน์กับผู้ต้องขังอย่างมาก