ร้อนอีกครั้ง สำหรับงานวิ่ง "แชริตี้ ชลบุรี มาราธอน 2018" หลัง โซเชียลฯ ปล่อยข้อมูลรายรับ งานวิ่งการกุศลจังหวัดชลบุรี เผย เงินรายได้หายเกินกว่าครึ่ง และ ยังไม่นำไปมอบให้โรงพยาบาลตามที่นัดไว้

จากกรณีกระแสดราม่า ภายในงานวิ่ง "แชริตี้ ชลบุรี มาราธอน 2018" ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ที่ผ่านมา ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากผู้ไปร่วมงาน เนื่องจากขาดแคลนน้ำดื่ม ขณะที่หนึ่ง ในผู้จัดงานได้ออกมาขอโทษ และ ยอมรับความผิดพลาที่จัดงานล้มเหลว พร้อมยืนยันเตรียมส่งมอบเงินบริจาคให้โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา อย่างโปร่งใส 

วานนี้ (18ต.ค.) เป็นวันครบกำหนดที่ผู้จัดงาน จะต้องมอบเงินให้กับทางโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อนำไปซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ แต่พบว่าผู้จัดงานได้ผิดนัด และยังไม่ได้มีการส่งมอบเงินให้กับทางโรงพยาบาล จนสังคมออนไลน์ ได้มีการเปิดเผยข้อมูลรายรับ ในงานวิ่งเพื่อการกุศล มาโพสต์ในโซเชียล มีรายละเอียดว่า วิ่งระยะทาง 5 กิโลเมตร จำนวนคนสมัคร 4,599 คน ค่าสมัคร 400 บาท รวมเป็นเงิน 1,839,600 บาท 

วิ่งระยะทาง 10 กิโลเมตร จำนวนคนสมัคร 5,716 คน ค่าสมัคร 500 บาท รวมเป็นเงิน 2,858,000 บาท 

วิ่งระยะทาง 21 กิโลเมตร จำนวนคนสมัคร 3,000 คน ค่าสมัคร 700 บาท รวมเป็นเงิน 2,100,000 บาท 

วิ่งระยะทาง 42 กิโลเมตร จำนวนคนสมัคร 722 คน ค่าสมัคร 1,000 บาท รวมเป็นเงิน 722,200 บาท 

รวมผู้เข้าสมัครวิ่งทุกระยะทางเป็นเงินทั้งหมด 7,519,600 บาท 

แต่มีรายงานว่า เงินที่ได้จากผู้จัดการวิ่งตอนนี้ เหลือเงิน 1 ล้าน 9 แสนบาท เท่านั้น ซึ่งยังไม่ทราบว่า เงินจำนวนนี้ หักค่าใช้จ่ายแล้วหรือยัง พร้อมกับตั้งคำถามว่า เหตุใดเงินหายไปเกินกว่าครึ่ง ทั้งๆการจัดงานก็ไม่มีคุณภาพ 

รวมไปถึงให้ชี้แจงกรณีชื่อบัญชีธนาคาร ที่มีการเปิดเป็นชื่อบุคคล 2 คน ไม่ได้เปิดในนามของทางชมรมวิ่งฯ แต่อย่างใด 

***ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าว ต้องรอการชี้แจงรายละเอียดจากผู้ร่วมงานอีกครั้ง ว่า ยอดเงินที่ได้ มีจำนวนเท่าไหร่ หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว จะนำเงินมอบให้กับโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพาเท่าใด และ จะมอบให้เมื่อไหร่*** 

ด้าน พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวถึง มาตรฐานการจัดงานวิ่งที่เป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ขณะนี้ ว่า ภายใน 1 ปี ประเทศไทยมีการจัดกิจกรรมวิ่งมากกว่า 1,000 รายการ ซึ่งมีผู้จัดหรือองค์กรที่หลากหลาย มีประสบการณ์ในการจัดงานวิ่งที่แตกต่างกัน 

ดังนั้น เมื่องานวิ่งเติบโตขึ้น ย่อมส่งผลกระทบหลายด้าน รวมถึงผู้ใช้รถใช้ถนน และ เกิดการแสวงหาผลประโยชน์อื่นๆ ดังนั้น สสส. ได้ร่วมกับสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย สมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดทำคู่มือการจัดกิจกรรมงานวิ่งเพื่อสุขภาพ เป็นองค์ความรู้และแนวมาตรฐานในการจัดกิจกรรมวิ่งที่ยึดหลัก Safe – Fair – Fun เพื่อเป็นแนวทางให้แก่ภาคีสุขภาพ และหน่วยงานที่สนใจใช้เป็นคู่มือในการจัดกิจกรรมวิ่ง 

Safe (ความปลอดภัย) เช่น การปิดถนน การจราจร ความปลอดภัยของพื้นผิวถนน การแพทย์และพยาบาล การให้ความรู้กับนักวิ่งหน้าใหม่ การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (CPR) การป้องกันการบาดเจ็บ 

Fair (ความยุติธรรม ความเท่าเทียมกัน) คือ การให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง และข่าวสารเกี่ยวกับงานวิ่งที่จัด มีการบันทึกข้อมูล ระบบการจับเวลาที่เป็นมาตรฐาน 

และ Fun (ความสนุกสนาน) โดยหลักการของนานาชาติ อนุญาตให้มีการสร้างสีสัน การแสดงประจำท้องถิ่น และนักวิ่งแฟนซี เพื่อสร้างความบันเทิงระหว่างเส้นทางวิ่ง เพื่อสร้างความสนุกสนานและให้กำลังใจนักวิ่งด้วย 

ดังนั้น สิ่งที่นักวิ่งควรคำนึงถึงเป็นอันดับแรกๆ ในการตัดสินใจเลือกลงสมัครงานวิ่ง คือ เรื่องความปลอดภัย ความยุติธรรม-ความเท่าเทียม และความสนุกสาน เพื่อให้การเข้าร่วมงานได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ คือ ได้ทั้งความสนุกและสุขภาพที่ดี

ดราม่างานวิ่งชลบุรี มือดีแชร์ข้อมูลพบเงินหายไปกว่าครึ่ง-ไม่ส่งมอบตามกำหนด