ทนาย​รณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ พาผู้เสียหาย บุกร้อง กกต. ถูกหัวหน้าพรรคการเมืองเบี้ยวค่าหวยใต้ดินกว่าครึ่งล้าน

วันที่ 27 มี.ค. 2566 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม นำผู้เสียหายจำนวนหนึ่งที่อ้างว่าถูกหลอก เข้ายื่นคำร้องต่อ กกต. เพื่อขอให้ตรวจสอบจริยธรรมหัวหน้าพรรคการเมืองหนึ่ง หลังมีพฤติกรรมซื้อขายหวยใต้ดินแล้วไม่ยอมจ่ายเงิน โดยตัวแทนผู้เสียหายจาก จ.เชียงราย กล่าวว่า กรณีของตนเป็นผู้รับโพยหวย ซึ่งมีหัวหน้าพรรคการเมืองหนึ่ง และพี่สาวของหัวหน้าพรรคการเมืองคนดังกล่าว ส่งโพยหวยมาสั่งซื้อทางข้อความแอปพลิเคชั่นไลน์ รวมเป็นจำนวนเงินค้างทั้งสิ้น 440,000 บาท แล้วไม่ยอมจ่าย ซึ่งตนเป็นคนกลางที่ส่งโพยหวยให้กับเจ้ามือ ดังนั้นจึงต้องเป็นคนที่รับผิดชอบจ่ายแทน โดยตนได้ทวงถามถึงเรื่องเงินก็ไม่สามารถติดต่อได้ จนต้องไปทวงถามถึงที่บ้าน เขาก็อ้างว่า ได้นำเงินไปจ่ายค่าขึ้นศาลจากคดีของพรรคไปแล้ว จึงทำให้ไม่มีเงินจ่ายค่าหวย ผ่านมาจนถึงขณะนี้ 4 เดือนแล้ว ทั้งนี้ตนเชื่อว่ายังมีผู้เสียหายจากกรณีดังกล่าวอีกจำนวนหลายราย แต่ไม่กล้าที่จะออกมาร้องทุกข์

ด้านตัวแทนจาก จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า ตนเป็นผู้รับโพยหวย ได้รับความเดือดร้อนจากกรณีที่หัวหน้าพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ที่ค้างเงินค่าหวยใต้ดินจำนวน 210,000 บาท ซึ่งก่อนหน้านี้ตนกับหัวหน้าพรรคได้พบกันมาแล้ว หลังจากนั้นก็ได้โทรศัพท์มาหาตนและถามว่ากำลังทำอะไรอยู่ โดยตนตอบว่ากำลังจดโพยหวย ปรากฏว่าหัวหน้าพรรคดังกล่าวได้ส่งโพยสั่งซื้อหวยมาทางแอปพลิเคชั่นไลน์ เป็นจำนวน 2 ครั้ง ซึ่งครั้งแรกจ่ายเงินไม่ครบ และครั้งที่ 2 ก็ส่งโพยหวยมาสั่งซื้ออีก และได้มีการพูดในลักษณะข่มขู่ว่าหากไม่รับโพยหวยของตนก็จะไม่จ่ายเงินที่ค้างไว้ในรอบแรก พร้อมกับระบุว่า ตนเองมีตำแหน่งหัวหน้าพรรคการเมือง มีทั้งบ้าน ทั้งรถ ใช้การันตีไม่ได้หรือ อย่างไรก็ตามได้มีการทวงถามเงินที่ค้างจากหัวหน้าพรรคการเมืองดังกล่าว แต่ก็ไม่ยอมจ่ายเพราะเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย และได้มีการบ่ายเบี่ยงให้ไปคุยกับทนายแทน

"ตัวเองได้รับความเดือดร้อนจากกกรณีที่หัวหน้าพรรคคนดังกล่าว เบี้ยวไม่ยอมจ่ายเงินค่าหัวทำให้ตัวเองถูกเจ้ามือหวยมาตามด่า และรังควานถึงบ้าน"

ด้านนายรณณรงค์ กล่าวว่า หัวหน้าพรรคดังกล่าว อยู่ในพรรคที่มีสมาชิกพรรคที่เคยเป็นครูที่ชอบเล่นหวย

เมื่อถามว่าก่อนหน้านี้ได้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษแล้วหรือไม่ นายรณณรงค์ กล่าวว่า การมายื่นต่อ กกต. ก็เหมือนกับการแจ้งความที่สถานีตำรวจ เพราะเมื่อ กกต. ตรวจสอบพบว่ามีการกระทำความผิดจริงก็ต้องส่งเรื่องไปยังตำรวจในพื้นที่ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

เมื่อถามว่า ในเมื่อธุรกิจที่ทำผิดกฎหมายทำไมมายื่นให้ กกต.ตรวจสอบ ตัวแทนผู้เสียหายกล่าวว่า เราเจ็บ เขาก็ต้องเจ็บด้วยเหมือนกัน ความจริงก็คือความจริง เมื่อนายรณณรงค์ถามย้ำว่า รับสภาพได้หรือไม่ที่จะต้องถูกดำเนินคดีไปด้วย ตัวแทนผู้แทนหาย กล่าวว่า ใช่ เพราะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย