รองนายแพทย์สาธารณสุข จ.ตราด เผยคนไข้รับประทานไข่แมงดาไปมากจนเสียชีวิต ส่วนอีก 3 คนยังต้องรอดูอาการ ขณะที่อีก 2 รายให้กลับบ้านแล้ว

วันที่ 20 มีนาคม 2566 นายแพทย์ภานุวัฒน์ โสภณเลิศพงษ์ รองนายแพทย์สาธารณสุข จ.ตราด เปิดเผยถึงกรณีชาวบ้านที่กินไข่แมงดาไปแล้วเสียชีวิตว่า ชาวบ้านที่กินไข่แมงดาไปมีทั้งหมด 7 ราย เสียชีวิตที่ รพ.ตราด 1 รายและที่บ้าน 1 ราย อาการหนัก 3 ราย และ 2 รายอาการดีให้กลับบ้านได้

โดยทั้งหมดได้นำไข่แมงดามากิน แล้วเกิดอาการเป็นพิษ โดยรายแรกเข้ารักษาอาการที่ รพ.แหลมงอบ ในวันที่ 18 มีนาคม และถูกส่งมาที่ รพ.ตราด หลังปฐมพยาบาลแล้วในวันที่ 19 มีนาคม และเสียชีวิต ส่วนอีกคนเสียชีวิตที่บ้าน

จากนั้นทางสาธารณสุขได้เข้าสอบสวนโรค พบว่า มีผู้กินไข่แมงดาในวันนั้นรวม 7 คน 2 คนเสียชีวิต และอีก 3 คนนอนรักษาตัวที่ รพ.แหลมงอบ อีก 2 คนรักษาที่ รพ.เขาสมิง โดย 2 รายได้ให้ออกจากโรงพยาบาลแล้ว ส่วนอีก 3 รายนั้นยังต้องดูอาการใกล้ชิด ซึ่งอาการที่เป็นพิษและเสียชีวิตนั้นอยู่ที่ปริมาณการกิน ว่ามากหรือน้อย ซึ่งอาการจะเกิดขึ้นเป็นลำดับ ตั้งแต่คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย อ่อนแรง หากมีอาการรุนแรง ก็จะชัก ลิ้นแข็ง หายใจไม่สะดวก ลิ้นแข็งกล้ามเนื้อแขนอ่อนแรง และสุดท้ายระบบการหายใจหยุดทำงาน ซึ่งสารพิษ (เปรตาโดท็อคซิน) ส่งผลต่อระบบประสาทเป็นอัมพาต และสุดท้ายเสียชีวิต

นายแพทย์ภานุวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับแมงดานั้นจะมี 2 ประเภท คือ แมงดาจาน ที่มีขนาดใหญ่สามารถทานได้โดยทั่วไป กับแมงดาถ้วยหรือที่เรียกว่า เหรา จะกินไม่ได้ มีพิษ จะมีหางใหญ่

อย่างไรก็ตาม แมงดาถ้วยบางทีกินไปแล้วอาจจะไม่เป็นพิษสำหรับบางคน แต่ขอเตือนว่าไม่ควรจะนำมาบริโภคเด็ดขาด ส่วนเรื่องที่แมงดาจะไปกินสาหร่ายที่มีพิษแล้วสะสมไว้ และเมื่อชาวบ้านนำมากินจึงทำให้เกิดพิษ ซึ่งก็มีทฤษฎีนี้พูดอยู่เช่นกัน แต่ก็ยืนยันไม่ได้ทั้งหมด ดังนั้น เราควรหลีกเลี่ยงไม่รับประทานกลุ่มแมงดาถ้วยหรือเหรา เพราะเสี่ยงกับการเสียชีวิต