กุมารแพทย์เผยผู้ป่วยเด็กติดเชื้อไวรัส RSV ที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจมีแนวโน้มสูงขึ้น พบอาการรุนแรงในกลุ่มเด็กที่มีโรคประจำตัว ทำให้ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ เฉลี่ยอย่างน้อยคืนละ 1 คน ชี้ส่วนใหญ่เด็กติดเชื้อมาจากเพื่อนที่โรงเรียน

 

วันที่ 14 ก.ย. 65 สืบเนื่องจากกรณีนายแพทย์จิรรุจน์ ชมเชย กุมารแพทย์ที่เชี่ยวชาญโรคระบบหายใจ กลุ่มงานกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กไปเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 65 ที่ผ่านมา โดยระบุว่า "สุดยื้อ RSV เสียชีวิตแล้ว 1 คน เป็นการเปิดเกมในฤดูระบาดในเมืองโคราชที่โหดมาก กลุ่มที่มีโรคประจำตัวอย่างเช่นเคสนี้ มีความเสี่ยงสูงที่จะอาการรุนแรงมาก ถ้าไม่หยุดการระบาดนี้เคสที่ 2 3 4 ตามมาแน่นอน เพราะเรามีเด็กที่มีโรคประจำตัวหลายอย่าง รักษาอยู่เป็นจำนวนมากและกลุ่มนี้ก็ได้รับผลกระทบโดยตรง"

ล่าสุดวันนี้ 14 ก.ย. 65 นพ.จิรรุจน์ ชมเชย ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านวิดีโอคอลว่า ขณะนี้พบอัตราการป่วยของโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจในเด็กเพิ่มมากขึ้นและในกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งมีการตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัส RSV ซึ่งในส่วนของผู้ป่วยเด็กที่มีอาการหนักอยู่ไอซียูที่ตนเองดูแลอยู่ จะมีเด็กที่ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ เฉลี่ยอย่างน้อยคืนละ 1 คน และบางคืนก็มี 2-3 คน ซึ่งเริ่มพบการระบาดของโรคเมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว แต่ตอนนั้นยังไม่มีอาการรุนแรงมากนัก จนในสัปดาห์นี้ เริ่มมีอาการหนักมากขึ้น โดยเฉพาะในเด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น ป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจอยู่เดิม โรคหัวใจชนิดรุนแรง โรคระบบประสาท หรือโรคทางพันธุกรรม ที่ทำให้ระบบทางเดินหายใจไม่ดี ซึ่งในกลุ่มนี้มีโอกาสที่ระบบทางเดินหายใจจะล้มเหลวได้ ส่วนเคสผู้ป่วยเด็กที่เสียชีวิตตามที่เคยโพสต์ในโซเชียลไปนั้น จะเป็นเด็กที่มีอาการดาวน์ซินโดรม แล้วไปติดเชื้อไวรัส RSV มา จนอาการรุนแรงต่อมาจึงได้เสียชีวิตลง

ซึ่งปัจจัยที่ทำให้มีผู้ป่วยเด็กติดเชื้อ RSV ค่อนข้างมากในช่วงนี้ น่าจะมาจากหลายปัจจัย ทั้งจากสภาพอากาศช่วงหน้าฝนและการเปิดเรียน เพราะมาตรการป้องกันโรคตอนนี้ จะเป็นการตรวจ ATK หรือ RT-PCR เพื่อหาเชื้อโควิด-19 ซึ่งเด็กบางรายติดเชื้อ RSV มาโดยไม่รู้ตัว และเมื่อตรวจ ATK เป็นลบ เด็กก็ยังสามารถไปโรงเรียนได้ ก็นำเชื้อ RSV ไปแพร่กระจายต่อให้กับเพื่อน ๆ ในโรงเรียน และเมื่อเพื่อนได้รับเชื้อแล้วกลับไปบ้านก็จะนำเชื้อไปแพร่ต่อในครอบครัวและชุมชน ซึ่งเป็นรูปแบบการระบาดจะเหมือนกับโรคระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ ที่มักจะพบผู้ป่วยเด็กจำนวนมากในช่วงเปิดภาคเรียน และเมื่อปิดภาคเรียนอัตราผู้ป่วยจะลดลง

สำหรับแนวทางการรับมือในส่วนของไอซียูเด็ก โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ซึ่งตนเองดูแลอยู่ ตอนนี้ได้มีการเคลียร์เตียงเอาไว้แล้ว เพื่อรองรับผู้ป่วยหนักที่มีอาการวิกฤตให้เพียงพอ รองรับผู้ป่วยหนักในเขตอำเภอเมืองนครราชสีมา เพราะจะมีการส่งตัวผู้ป่วยหนักจากโรงพยาบาลประจำอำเภอเข้ามาที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาด้วย ไม่ว่าจะมีการระบาดเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม ในขณะที่ทีมระบาดและทีมควบคุมโรคได้รับทราบสถานการณ์และลงพื้นที่เข้าไปตรวจสอบเพื่อดำเนินมาตรการป้องกันควบคุมโรคอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ประชาชนยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัส RSV กันน้อย ดังนั้น อสม. ต้องเร่งลงไปให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้แก่ประชาชนในชุมชน เพื่อจะได้ดูแลป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อ RSV หรือโรคระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ ส่วนครอบครัวที่มีเด็กเล็กต่ำกว่า 1 ขวบ แต่ต้องอยู่ร่วมกับเด็กโต ขอให้แบ่งพื้นที่ดูแลให้ชัดเจน และต้องแยกพื้นที่ให้ได้ ในกรณีที่เด็กโตเริ่มมีอาการป่วยเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและให้สังเกตอาการป่วยของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หากอาการรุนแรง หอบเหนื่อยร่วมด้วย ให้รีบพาไปพบแพทย์เพื่อให้การรักษาโดยด่วนและสำหรับทางโรงเรียนก็ต้องตระหนักด้วยว่า ช่วงนี้มีการระบาดของเชื้อไวรัส RSV ดังนั้นจะต้องเร่งให้ความรู้แก่ผู้ปกครองและเด็กนักเรียนด้วยและให้ป้องกันตนเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ ให้สะอาด และฉีดพ่นฆ่าเชื้ออุปกรณ์และพื้นที่ให้ปลอดเชื้อ รวมถึงหากพบการระบาดรุนแรงในชั้นเรียน ให้จัดการเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์ จะช่วยลดการระบาดลงได้