ผบช.สอท ร่วมกับสมาคมธนาคารไทยกำหนดมาตรการการป้องกันอาชญากรรม พร้อมเร่งสืบสวนบุคคลที่อยู่เบื้องหลังที่ดูดเงินออกจากบัญชีของประชาชน ซึ่งขณะนี้มูลค่าความเสียหายกว่า 130 ล้านบาท


วันที่ 20 ต.ค. 2564 ตำรวจไซเบอร์ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย ผู้แทนธนาคารพาณิชย์ และผู้แทนศูนย์ประสานงานรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางสารสนเทศ ร่วมประชุมเน้นหารือสืบสวนหาบุคคลที่อยู่เบื้องหลังที่ดูดเงินออกจากบัญชีของประชาชนมูลค่าความเสียหายกว่า 130 ล้านบาท เพื่อนำตัวคนผิดมาดำเนินคดี 

พลตำรวจโทกรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เปิดเผยว่า จากพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น ทางตำรวจเชื่อว่า ขบวนการดูดเงินออกจากบัญชีผู้เสียหาย มีคนไทยร่วมขโมยข้อมูลบัตรเครดิตและบัตรเดบิตของผู้เสียหาย เพราะมีเพียงคนไทยที่รู้พฤติกรรมการใช้บัตรเครดิตและเดบิตในชีวิตประจำวันของคนไทยจนสามารถขโมยข้อมูลไปให้มิจฉาชีพที่ใช้เซิร์ฟเวอร์ในต่างประเทศ ดังนั้นคนไทยจะเป็นคนสำคัญที่จะสาวไปถึงตัวการใหญ่ในต่างประเทศ ซึ่งจากการเปรียบเทียบค่าเงินที่ถูกหักไปพบว่า ส่วนใหญ่เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ และลีราตุรกี

พลตำรวจตรีนิเวศน์ อาภาวศิน ผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี ระบุธุรกรรมส่วนใหญ่อยู่ต่างประเทศ ข้อมูลที่หลุดไปอาจเป็นการขายข้อมูลให้กับมิจฉาชีพ ขึ้นอยู่กับมิจฉาชีพจะนำข้อมูลบัตรไปซื้อสินค้าอะไร หากเป็นการซื้อไอเทมเกมจะประสานบริษัทเกมในต่างประเทศตามที่มีกฎหมายระหว่างประเทศรองรับ เพื่อขอข้อมูลว่าใครเป็นคนนำข้อมูลไปใช้ซื้อไอเทมเกม และบางส่วนอาจเกี่ยวข้องกับเว็บพนันออนไลน์ต่าง ๆ

ส่วนเส้นทางการเงินทางธนาคารจะเป็นผู้รวบรวม เพราะดูแลทั้งระบบจะเห็นภาพรวมที่ชัดเจน และจากการตรวจสอบเส้นทางการเงิน พบว่า ส่วนใหญ่มีการโจรกรรมซื้อสินค้าจากต่างประเทศ

ด้านตัวแทนสมาคมธนาคาร ระบุจะยกระดับการดูแลบัญชีของลูกค้าให้เข้มข้นมากขึ้น เตรียมบล็อกร้านค้าที่มีความเสี่ยงต่อการทำธุรกรรมผิดปกติ รวมถึงจะปรับมาตรการยืนยันตัวตนของผู้ใช้บัตรเครดิตและเดบิตให้มากขึ้น อย่างไรก็ตามยอมรับหากจะให้แจ้งเตือน sms การทำธุรกรรมทุกบาททุกสตางค์เกรงว่าจะรบกวนลูกค้ามากเกินไป จึงมองว่าหากต้นทางของรายการใดผิดปกติก็ไม่ควรเรียกเก็บเงิน