การรถไฟฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบ พื้นที่โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง พบมีการบุกรุก 9 จุด สั่งเร่งล้อมรั้วปิดกั้นทางเข้าออก ขอประชาชนใช้สะพานข้ามทางรถไฟ เพื่อความปลอดภัยต่อตนเองและส่วนรวม


(18 ต.ค.2564) นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีกลุ่มบุคคลเข้ามาบุกรุกทำลายรั้วแผงกั้นในพื้นที่โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง บริเวณนิคมรถไฟ กม.11 เพื่อทำเป็นทางลัดผ่าน ล่าสุด การรถไฟฯ ได้เข้าไปดำเนินการซ่อมแซมรั้วเหล็กในบริเวณดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว และได้จัดชุดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบเส้นทางโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงเพิ่มเติม พบมีการบุกรุก เคลื่อนย้ายแบริเออร์ รื้อรั้วเหล็ก เข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของการรถไฟฯ ถึง 9 จุด ดังนี้
1. บริเวณก่อนทางลงอุโมงค์ ถนนกำแพงเพชร 6 มีแบริเออร์ถูกยกออก จำนวน 2 แท่ง และมีการนำรถยนต์เข้าไปจอดทำเป็นที่จอดรถยนต์
2. บริเวณตรงข้ามซอยไทรคู่ มีการเปิดรื้อรั้วเหล็ก 1 แผง เพื่อเข้าไปใช้ประโยชน์และมีการกางเต็นท์ในพื้นที่รถไฟฟ้าสายสีแดง
3. บริเวณตรงข้ามชุมชนภักดี มีการเปิดรื้อรั้วเหล็ก 3 แผง และตั้งร้านขายอาหารด้านใน 1 ร้าน
4. บริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้าจตุจักร มีการเปิดรื้อรั้วเหล็ก 1 แผง เพื่อใช้เดินลัดเข้าพื้นที่รถไฟฟ้าสายสีแดง
5. บริเวณใต้สะพานกลับรถตรงข้ามบ้านกลางเมือง พบร่องรองเกิดอุบัติเหตุ รั้วถูกรถยนต์ชนได้รับ
ความเสียหาย 4 แผง และตรวจพบเสารั้วเหล็กสูญหายอีก 1 เสา (การรถไฟฯ เข้าไปดำเนินการซ่อมแซมเรียบร้อยแล้ว)
6. บริเวณตรงข้ามวัดเสมียนนารี มีการเปิดรื้อรั้วเหล็ก 1 แผง และรั้วเหล็กสูญหาย 1 แผง เพื่อให้คนเดินข้ามทางรถไฟไปยังตลาดนัดที่การรถไฟฯ เคยสั่งปิดไปก่อนหน้านี้
7. บริเวณป้ายหยุดรถไฟการเคหะ กม.19 มีการเปิดรื้อรั้วเหล็ก 1 แผง เพื่อให้คนเดินข้ามทางรถไฟไปขึ้นรถเมล์ที่ถนนวิภาวดีรังสิต และมีร้านค้าตั้งขายของบริเวณข้างรั้วดังกล่าว
8. บริเวณป้ายหยุดรถไฟตลาดใหม่ดอนเมือง มีการเปิดรื้อรั้วเหล็ก 1 แผง เพื่อให้คนเดินข้ามทางรถไฟมาขึ้นรถเมล์ที่ริมถนนวิภาวดีรังสิต และมีร้านค้าตั้งขายของบริเวณรั้วที่เปิดอยู่หลายร้าน
9. บริเวณถนนโลคอลโร้ด ทางเข้าสถานีจ่ายไฟฟ้าของรถไฟฟ้าสายสีแดง (หลังกองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ 191) มีการเปิดรื้อรั้วเหล็ก เสาและรั้วเหล็กสูญหายถึง 4 จุด ประกอบด้วย จุดที่ 1 รั้วเหล็ก 2 แผง 1 เสา จุดที่ 2 รั้วเหล็ก 2 แผง 1 เสา จุดที่ 3 รั้วเหล็ก 6 แผง 5 เสา และจุดที่ 4 รั้วเหล็ก 8 แผง 7 เสา

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรักษาทรัพย์สินของการรถไฟฯ รวมถึงดูแลความปลอดภัยแก่ผู้ใช้บริการและผู้สัญจร
ไปมา การรถไฟฯ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าซ่อมแซมรั้วเหล็ก ปิดกั้นทางเข้าออก ไม่ให้มีการบุกรุกเข้าพื้นที่อีก เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าวมีไว้สำหรับใช้ดูแลความปลอดภัยในการเดินรถ อีกทั้งในทางรถไฟยังมีระบบไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้เข้าไปในพื้นที่ รวมถึงเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุแก่ผู้สัญจรไปมาได้
อย่างไรก็ตาม การรถไฟฯ ได้คำนึงถึงความสะดวกและความปลอดภัย ในการเดินทางของชุมชน รวมถึงประชาชนผู้สัญจรในพื้นที่ โดยได้มีการจัดสร้างสะพานลอยข้ามถนนและทางรถไฟพร้อมระบบไฟส่องสว่างให้บริการ จึงขอความร่วมมือให้พี่น้องประชาชนช่วยกันใช้ทางข้ามที่การรถไฟฯ จัดสร้าง เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความปลอดภัยต่อตัวเองและประโยชน์ของส่วนรวม ขณะเดียวกันขอแจ้งเตือนให้หยุดพฤติกรรมการทำลายรั้วเหล็กและทรัพย์สินของการรถไฟฯ อย่างเด็ดขาด เพราะถือเป็นการทำลายทรัพย์สินทางราชการ
มีโทษความผิดทางกฎหมาย ทั้งทางแพ่งและอาญา

“จากนี้การรถไฟฯ จะมีการจัดชุดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจตราอย่างต่อเนื่อง และขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนช่วยกันสอดส่อง หากพบผู้กระทำความผิดสามารถแจ้งได้ที่ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ หมายเลขโทรศัพท์ 1690 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือเฟซบุ๊ก แฟนเพจทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย”