กอนช.ประกาศฉบับ 2  อ.เสนา-ผักไห่ จ.อยุธยา ระดับน้ำสูงขึ้น 1 เมตร 29 ก.ย.-2 ต.ค. นี้ ให้เเจ้งปชช. ผู้ประกอบการ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย คลองโผงเผง คลองบางบาล เฝ้าระวังรับมือ
 
 
วันที่ 22 ก.ย. 2564 กองอำนวยการน้ำเเห่งชาติ (กอนช. ) ประกาศฉบับที่ 12/2564 เรื่อง เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีรายละเอียด ดังนี้ 
 
การคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาในช่วงวันที่ 20 – 24 ก.ย. 2564 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
 
ส่วนในช่วงวันที่ 25 – 26 ก.ย. 2564 หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้มีแน้วโน้มเคลื่อนเข้าปกคลุมชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลางและจะเคลื่อนตามแนวร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
 
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ประเมินปริมาณฝนที่ตกสะสมในพื้นที่ตอนบนลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในช่วงดังกล่าวนั้นจะส่งผลให้มีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาสูงสุด บริเวณสถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ 2,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในวันที่ 28 ก.ย. 2564 และปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในวันที่ 29 ก.ย.2564 ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำด้านท้ายเขื่อน บริเวณ ต.บ้านกระทุ่ม ต.หัวเวียง อ.เสนา และต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 1.00 เมตร ในช่วงวันที่ 29 ก.ย. - 2 ต.ค. 2564
 
ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้
 
1. ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่จุดเสี่ยงและพื้นที่ที่ยังคงสถานการณ์น้ำท่วมขังอยู่ แจ้งเตือนจังหวัดในพื้นที่ท้ายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลและ แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งผู้ประกอบกิจการ ในบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย คลองโผงเผง และคลองบางบาล
 
2. ปรับแผนบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำและเร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ เพื่อรองรับน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนลดผลกระทบความรุนแรงของอุทกภัยและให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
 
3. เตรียมแผนเผชิญเหตุรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที