น้ำท่วมภาคใต้ยังวิกฤต ล่าสุดน้ำทะลักเข้าท่วม อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา สถานที่ราชการได้รับผลกระทบเกือบทั้งหมด ขณะที่คอสะพานข้ามคลองอู่ตะเภาถูกน้ำกัดเซาะขาดแล้ว ส่วนที่จังหวัดตรัง ชาวบ้านสองฝั่งแม่น้ำตรังต่างกังวลน้ำทะลักเข้าท่วมบ้าน หลังระดับน้ำมีปริมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

 

ชาวบ้านสองฝั่งแม่น้ำตรังกังวลน้ำทะลักเข้าท่วมบ้าน

สถานการณ์น้ำท่วมบริเวณถนนเลี่ยงเมือง หมู่ 6 ตำบลนาท่ามเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดตรัง มีระดับน้ำทั้งขาเข้า และ ขาออกไหลเชี่ยวสูงประมาณ 60 เซนติเมตร จนรถทุกชนิดไม่สามารถผ่านไปมาได้ ซึ่งหมวดทางหลวงห้วยยอด ได้ปิดการจราจร พร้อมติดตั้งป้ายเตือน และ นำอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่ไว้คอยอำนวยความสะดวกประชาชนที่ใช้เส้นทางดังกล่าวแล้ว เนื่องจาก ถนนเส้นนี้ไม่มีไฟฟ้าแสงสว่างยามค่ำคืน เกรงจะเกิดอันตรายแก่ผู้สัญจร

พร้อมทั้งขอผู้ที่จะเดินทางไปยังจังหวัดกระบี่ หรือ ผู้ที่ต้องการเดินทางเข้าสู่จังหวัดตรัง โดยมาจากอำเภอทุ่งสง ขอให้เลี่ยงไปใช้เส้นทางแยกการไฟฟ้าฯ-แยกนานอน-แยกอันดามัน จนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะเป็นปกติ

ส่วนพื้นที่เขตรอยต่อ ตำบลหนองตรุด กับ ตำบลบางรัก อำเภอเมือง พนังกันน้ำถูกกัดเซาะเพิ่มขึ้น รวมถึงมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ชาวบ้านสองฝั่งแม่น้ำตรัง ต่างกังวลน้ำว่าทะลักเข้าท่วมบ้าน

นายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวถึงสถานการณ์อุทกภัยจังหวัดตรังในภาพรวมว่า ขณะนี้ในพื้นที่จังหวัดตรัง มีน้ำท่วมแล้ว 7 อำเภอ 3เทศบาล 39 ตำบล 226 หมู่บ้าน และ มีประชาชนได้รับความเดือดร้อน11,147 ครัวเรือน 31,984 ราย ซึ่งได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือ 7อำเภอ ได้แก่ อำเภอนาโยง  อำเภอเมืองตรัง  อำเภอรัษฎา  อำเภอห้วยยอด  อำเภอปะเหลียน  อำเภอวังวิเศษ และ อำเภอกันตัง พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง

 

คอสะพานข้ามคลองอู่ตะเภาเชื่อมสองอำเภอถูกน้ำกัดเซาะตัดขาด

ส่วนที่ จังหวัดสงขลา  จากปริมาณน้ำในคลองอู่ตะเภาที่เพิ่มสูงขึ้น และ ไหลเชี่ยว ทำให้เกิดการกัดเซาะถนน และ คอสะพานข้ามคลองอู่ตะเภา ที่เชื่อมต่อระหว่างหมู่ 8 ตำบลบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ กับ หมู่ 5 ตำบลทุ่งลาน อำเภอคลองหอยโข่ง จนขาดแล้วทำให้ไม่สามารถสัญจรผ่านได้ โดยเจ้าหน้าที่ต้องนำเครื่องกั้นมาวางไว้บริเวณก่อนถึงตัวสะพาน เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้คนที่ผ่านไปมาได้รับอันตราย โดยเฉพาะในช่วงกลางคืน ส่วนแนวถนนทั้งสองฝั่งคลองยังมีถูกน้ำกัดเซาะพังเสียหายเพิ่มขึ้นอย่างต่อ เนื่องจากปริมาณน้ำในคลองอู่ตะเภาที่ยังเพิ่มขึ้น

ขณะที่ น้ำป่าจากอำเภอสะบ้าย้อยได้ไหลทะลักเข้าท่วมเส้นทางถนนสายเทพา-สะบ้าย้อย ระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร และ ยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้รถยนต์ไม่สามารถผ่านไปได้ ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่บ้านแลแบง ตำบลสะบ้าย้อย ต้องอพยพไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราว

ส่วนในเขตตัวเมืองเทพา น้ำได้ไหลเข้าท่วมตั้งแต่ช่วงกลางดึกวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้สถานที่ราชการหลายแห่งถูกน้ำท่วม อาทิ ที่ว่าการอำเภอเทพา  ที่ทำการไปรษณีย์  สำนักงานสาธารณสุข  และสถานีตำรวจภูธรเทพา ระดับน้ำสูงเฉลี่ย 50-80 เซนติเมตร เจ้าหน้าที่ต้องเร่งขนย้ายข้าวของอุปกรณ์ของทางราชการ รวมถึงรถยนต์ไปไว้ในที่ปลอดภัย

เช่นเดียวกับชาวบ้านกว่า 50 ครัวเรือน ที่บ้านนาเกาะ ตำบลเทพา อำเภอเทพา ต้องอพยพกางเต็นท์พักอาศัยอยู่บนถนน

 

จ.นครศรีธรรมราช ประกาศภัยพิบัติแล้ว 4 อำเภอ

ที่จังหวัดนครศรีธรรมรา เกิดฝนยังคงตกต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 แล้ว โดยในบริเวณที่ราบลุ่มพื้นที่ ตำบลช้างซ้าย อำเภอพระพรหม น้ำเริ่มเอ่อล้นท่วมพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านแล้ว ขณะที่บริเวณตามคลิองต่างๆ มีน้ำไหลทะลัก และ เพิ่มระดับสูงขึ้น โดยทางสำนักงานป้องกันและบรรเทาสารธารณภัย ได้แจ้งเตือนให้พี่น้องประชาชนเตรียมรับมือแล้ว

ขณะที่ นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ออกแจ้งเตือนสถานการณ์ฝนตกในพื้นที่ว่า จากฝนที่ตกหนักครอบคลุมทั้ง 23 อำเภอ ส่งผลให้มีน้ำป่าไหลหลากน้ำท่วมขังบางพื้นที่ ซึ่งขณะนี้จังหวัดได้ประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน(อุทกภัย)แล้ว 4อำเภอ คือ อำเภอจุฬาภรณ์  อำเภอบางขัน  อำเภอชะอวด และ อำเภอทุ่งสง แต่ถือว่า ยังไม่รุนแรงเหมือนต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งทุกพื้นที่ทางหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่สำรวจ และ ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่องแล้ว

 

น้ำท่วมสุไหงโก-ลก ขยายวงกว้าง-น้ำท่วมสูงมิดหลังคาแล้ว

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จังหวัดนราธิวาส แม่น้ำสุไหงโก-กล ยังคงมีน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน โดยระดับน้ำยังได้ไหลเอ่อล้นเข้าไปในถนนบางสายในเขตเมือง ส่งผลให้บ้านเรือนราษฎรที่อยู่ติดริมแม่น้ำสุไหงโก-ลก กว่า 60 ครัวเรือน ถูกน้ำท่วมหลังเกือบมิดหลังคา โดยระดับน้ำท่วมอยู่ที่เกือบ 2 เมตร ในพื้นที่ชุมชนหัวสะพาน ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวถือเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากมาตลอดระยะเวลานานนับ 10 ปี ขณะที่ชาวบ้านต่างอพยพไปอยู่ที่ศูนย์อพยพชั่วคราวแล้ว

ส่วนอีก 8 ชุมชน คือ ชุมชนท่าประปา  ชุมชนท่าโรงเลื่อย  ชุมชนท่าเจ๊ะกาเซ็ง  ชุมชนท่าชมพู่  ชุมชนท่ากอไผ่  ชุมชนหลังด่าน  ชุมชนกือดาบารู  ชุมชนสันติสุข ระดับน้ำ เฉี่ลย 1.50 เซนติเมตร

 

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ ภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และ มีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก และฝนตกสะสม ที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก

ส่วนบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กบริเวณอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 1 ธ.ค. 60 ขอให้ประชาชนบริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกระวังอันตรายจากคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่ง

สำหรับประเทศไทยตอนบนอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนควรระวังอันตรายในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกไว้ด้วย

สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้