เชียงใหม่อ่วมหนัก! ฝุ่นพิษทำนักท่องเที่ยวหาย ผู้ประกอบการโอดสงกรานต์อาจกร่อย

วันที่ 6 เม.ย. 66 สภาพอากาศในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ท้องฟ้าตัวเมืองเชียงใหม่ ยังคงถูกปกคลุมไปด้วยหมอกควันไฟป่าหนาแน่น ทำให้ทัศนวิสัยการมองเห็นขุ่นมัว ประชาชนรับรู้ได้อย่างชัดเจนว่ามีอาการแสบจมูก แสบคอ และแสบตา เวลาออกมากลางแจ้ง ขณะที่การลักลอบเผาป่าก็ยังคงมีอย่างต่อเนื่องและทุกวัน

ข้อมูลจากข้อมูลจากเว็บไซต์ Application airvisual ซึ่งวัดคุณภาพอากาศของทั่วโลก พบว่าจากการเปรียบเทียบดัชนีคุณภาพอากาศหรือค่า US AQI จากประเทศต่างๆทั่วโลก พบค่ามลพิษในอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงเวลา 09.00 น.ที่ผ่านมา อยู่ในอันดับ 1 ของโลก วัดได้ 334 US AQI อยู่ในระดับสีม่วง

ขณะที่แอปพลิเคชัน NTAQHI ที่พัฒนาโดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่าช่วงเวลา 09.00 น. มีค่ามลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีอนุภาคต่ำกว่า 2.5 ไมครอน หรือค่า PM2.5 เกือบทุกจุดอยู่ในระดับสีแดง สีม่วง และสีม่วงเข้มพื้นที่ที่ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และพื้นที่ที่ค่า Pm2.5 สูงที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ อยู่ที่ จุดตรวจวัด รพ.สต.บ้านป่าไหน่ ต.ป่าไหน่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ วัดได้ 507 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรซึ่งถือว่าสูงมากอยู่ในระดับสีม่วง

ส่วนในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ พบว่าบริเวณสถานีตรวจวัดเทศบาลช้างเผือก PM 2.5 สูงสุดอยู่ที่ 356 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรอยู่ในระดับสีม่วง ส่วนที่ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ วัดได้ 344 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรอยู่ในระดับสีม่วงเช่นเดียวกัน

จากการสอบถาม ผู้ประกอบการรถ 4 ล้อรับจ้างหรือว่ารถ 4 ล้อแดงเชียงใหม่ เผยว่าสถานการณ์หมอกควันทำให้ได้รับผลกระทบทั้งด้านสุขภาพ และด้าน การท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวหายไป ซึ่งโดยปกติแล้วในช่วงเดือนเมษายนจะเป็นช่วงที่นักท่องเที่ยว เดินทางมาเที่ยวในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มากที่สุด แต่ในปีนี้นักท่องเที่ยวน้อยมาก

อย่างไรก็ตามกรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า ในช่วงวันที่ 6-9 เมษายน 2566 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยจะเริ่มมีผลกระทบในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกก่อน ส่วน ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคเหนือ จะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป