ผอ.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น พร้อมอุปนายกสมาคมพระเครื่องพระบูชาไทย พบลูกศิษย์ครูบาไก่ ให้ความรู้พระพุทธรูปที่ครูบาไก่ขุดขึ้นมาได้ ยืนยันขึ้นทะเบียน 5 องค์ ที่เหลือสร้างเลียนแบบขึ้นมาใหม่

เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 นายลักษมณ์ บุญเรือง ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น และ นายศุภกนก์ธี อนุศรี หรือโต่ง ขอนแก่น ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอุปนายกสมาคม พระเครื่องพระบูชาไทย ลงพื้นที่ไปดูพระพุทธรูปที่อยู่ในตู้โชว์ที่วัดโสรโย บ้านขุมดิน ต.กุดเค้า อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น หลังจากที่ได้รับการประสานจากประชาชนในพื้นที่ อ.มัญจาคีรี ขอความอนุเคราะห์ตรวจสอบพระพุทธรูป หลังจากมีกระแสข่าวเกี่ยวกับการขุดพระพุทธรูปของ พระสุวิทย์ ชินวโร (ครูบาไก่) เพื่อป้องกันการครหาว่าหลอกลวง

ซึ่งการลงพื้นที่ของในครั้งนี้ มีปลัดอำเภอมัญจาคีรี ร่วมสังเกตุการณ์ และตำรวจ สภ.มัญจาคีรี มารักษาความสงบเรียบร้อย ท่ามกลางชาวบ้าน ที่มานั่งรับฟังรายละเอียดจากอุปนายกสมาคม พระเครื่องพระบูชาไทย และผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น

โดยอุปนายกสมาคม พระเครื่องพระบูชาไทย กล่าวว่า พระพุทธรูปที่ขุดมาได้นั้น เป็นพระพุทธรูปใหม่ 95 % ไม่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และทางโบราณคดี แต่ไม่สามารถตรวจยึด หรือจับกุมได้ เพราะพระพุทธรูปไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ก็มีคุณค่าทางใจต่อประชาชน

"พระพุทธรูปที่อยู่ในตู้ 95% สร้างขึ้นมาใหม่ สร้างหลังปี 2500 ซึ่งพระจริง พระแท้ ที่ไม่ใช่พระเก๊ ต้องมีเพียงองค์เดียว ดินที่สร้างต้องเป็นดินสกุลพื้นถิ่น และต้องไม่หนัก ไม่มีน้ำหนัก และการให้ความรู้ชาวบ้านในครั้งนี้ ก็คือพูดความจริงให้ชาวบ้านรับรู้ และชาวบ้านต้องรับความจริงได้ ซึ่งเมื่อทราบข้อเท็จจริงแล้ว เชื่อว่าการวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆนานาก็จบลงไปด้วย เพราะการมาครั้งนี้ ไม่ได้มา เพื่อพิสูจน์เรื่องครูบาไก่ แต่มาให้ความรู้ชาวบ้านในเรื่องพระพุทธรูปที่ขุดขึ้นมาได้ รวมถึงพระพุทธรูปที่มีชาวบ้านนำมาถวายให้วัด เท่านั้น" อุปนายกสมาคมพระเครื่องพระบูชาไทย กล่าว

นายลักษมณ์ บุญเรือง ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น กล่าวยืนยันการขึ้นทะเบียน จำนวน 5 องค์ ประกอบด้วย

1.พระพุทธรูปปางมารวิชัย โลหะฐานกว้าง 25 ซม. ฐานสูง7 ซม. ตักกว้าง 22 ซม. สูงรวมฐาน 44 ซม. เลียนแบบศิลปะล้านช้าง(อิทธิพลศิลปะสุโขทัย) ไม่สามารถกำหนดอายุสมัยได้ พบบริเวณหนองสิม บ้านขุมดิน ต.กุดเค้า อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น

2.เทวรูป 8 กร สำริด ขนาด ฐานกว้าง 8 ซม. ฐานยาว 9ซม. ฐานสูง 3ซม. สูงรวมฐาน 38 ซม. สวมกระบังหน้า กรองศอ พาหุรัด นุ่งผ้าเลียนแบบ ประติมากรรมเขมร แต่ไม่สามารถระบุอายุสมัยได้ เลียนแบบศิลปะลพบุรี ศิลปะเขมรที่พบในประเทศไทย พบบริเวณบ้านหญ้าข้าวนก ม.4 ต.กุดเค้า อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น ในที่นาของนายธนิก มาสีพิทักษ์ เมื่อเดือนเมษายน 2558

3.พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร วัสดุโลหะ ขนาดฐานกว้าง 5.5ซม. ฐานยาว 9 ซม. สูงรวม 47 ซม. กว้าง 13 ซม. เลียนแบบศิลปะลพบุรี ศิลปะเขมรที่พบในประเทศไทย เลียนแบบประติมากรรมเขมร ไม่สามารถกำหนดอายุสมัยได้พบบริเวณหนองสิม บ้านขุมดิน ต.กุดเค้า อ.มัญ จาศีรี จ.ขอนแก่น

4.พระพุทธรูปปางมารวิชัยปูน ฐานกว้าง 26ซม. ฐานสูง 10 ซม. ตักกว้าง 22 ซม. สูงรวมฐาน 39 ซม. เลียนแบบศิลปะล้านนา พระพักตร์กลม พระหนุเป็นปม เม็ดพระศกใหญ่ขมวดเป็นก้นหอย รัศมีรูปดอกบัวตูม สังฆาฏิสั้นเหนือพระดันปลายเป็นเขี้ยวตะขาบ ฐานบัวคว่ำบัวหงาย ไม่สามารถกำหนดอายุสมัยได้พบบริเวณหนองสิม บ้านขุมดิน ต.กุดเค้า อ.มัญ จาคีรี จ.ขอนแก่น
5.พระพุทธรูปปางมารวิชัยสำริดฐานกว้าง 18 ชม. ฐานสูง 3 ชม. ตักกว้าง 20 ชม. สูงรวมฐาน 33ชม.เลียนแบบศิลปะล้านนา พระพุทธรูปปางมารวิชัย พระพักตร์กลม พระหนุเป็นปม เม็ดพระศกใหญ่ขมวดเป็นก้นหอย รัศมีรูปดอกบัวตูม สังฆาฏิสั้นเหนือพระถันปลายเป็นเขี้ยวตะขาบ พบบริเวณบ้านหญ้าข้าวนก ม.๔ ต.กุดเค้า อ.มัญ จาคีรี จ.ขอนแก่น ในที่นาของนายธนิก มาสิพิทักษ์

ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น กล่าวอีกว่า ส่วนพระที่เหลือก็ยืนยันตามอุปนายกสมาคม พระเครื่องพระบูชาไทย ว่า 95% เป็นพระพุทธรูปที่เป็นศิลปวัตถุพื้นบ้าน ที่มีการสร้างขึ้นมาใหม่ อาจจะต่างที่มาของแต่ละจุด แต่ละองค์พระ ซึ่งอาจจะมาจากการเคลื่อนย้ายของครัวเรือนในยุคก่อน หรือบางครั้งอาจจะมีการขนย้ายที่ผิดวิธี ทำให้ต้องฝังดินไว้ แล้วมาขุดพบหรือค้นพบด้วยคนในยุคปัจจุบัน และนำมากราบไหว้บูชา ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิดกฎหมาย

นายวิญญู อายุ 37 ปี ชาวบ้านที่มานั่งฟัง กล่าวว่า หลังจากที่นักโบราณคดีและผู้เชี่ยวชาญเรื่องพระลงพื้นที่มาพบชาวบ้านและให้ความรู้ พร้อมทั้งชี้ชัดให้ชาวบ้านสบายใจว่า เป็นพระแท้ ที่สร้างขึ้นมาใหม่อายุประมาณ 30-5 ปี ตอนนี้รู้สึกสบายใจมาก

ในขณะเดียวกันชาวบ้านที่นั่งอยู่นับร้อยคนที่ได้ฟังรายละเอียดแล้ว ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สบายใจและได้ความรู้ ทุกคนยังจะกราบไหว้บูชาพระพุทธรูปทั้งหมดเหมือนเดิม และยังเลื่อมใสศรัทธาครูบาไก่ตามเดิม