ก.เเรงงานสั่ง บ.ควอลิตี้ฯ ย่านดอนเมือง จ่ายค่าจ้าง-เงินสิทธิประโยชน์ พนักงาน 22 คน 3 ล้าน หลังเลิกจ้าง เซ่นพิษโควิด ล่าสุด เพิ่งดำเนินการเเค่ 2 คน เป็นเงิน 2.9 หมื่น นิติกร เเจ้งดำเนินคดีบริษัทฯ เเล้ว

 

วันที่ 5 ส.ค. 2564 นางโสภา เกียรตินิรชา รองอธิบดีและโฆษกกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงเเรงงาน กล่าวชี้แจงประเด็นกรณีลูกจ้างบริษัท ควอลิตี้ พลัส เอสเทติค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายเครื่องสำอาง ตั้งอยู่ที่เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร หลังพบลูกจ้างถูกนายจ้างเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมและไม่ได้รับเงินเยียวยาตามกฎหมาย

โดยกรณีนี้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว จึงสั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเร่งดำเนินการและหาข้อยุติ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าในระหว่าง ก.พ. 2564 ลูกจ้างจำนวน 18 คน มายื่นคำร้องกับพนักงานตรวจแรงงานว่านายจ้างเลิกจ้างและค้างจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชย ซึ่งพนักงานตรวจแรงงานมีหนังสือเชิญนายจ้างมาพบเมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2564 เพื่อตรวจสภาพการจ้างการทำงานของสถานประกอบกิจการ พบว่านายจ้างแจ้งว่าได้เลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และมีการค้างจ่ายค่าจ้างลูกจ้างและเงินสิทธิประโยชน์อื่น ๆ จริง

ด้วยเหตุนี้ จึงมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างและเงินสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างตามที่ค้างจ่าย หลังจากนั้นมีลูกจ้างของบริษัทมายื่นคำร้องเพิ่มเติมจนถึงเดือนพ.ค. 2564 อีก 4 คน รวมเป็น 22 คน โดยพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างรวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 321,245 บาท ค่าล่วงเวลา 7,024 บาท ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 331,591 บาท และค่าชดเชยการเลิกจ้าง 2,019,186 บาท พร้อมดอกเบี้ย ให้กับจากลูกจ้างทั้งหมด 22 คน

ทั้งนี้ นายจ้างได้ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานโดยจ่ายเงินค่าจ้างให้ลูกจ้างเพียง 2 คน เป็นเงิน 29,211 บาท พร้อมดอกเบี้ย

สำหรับกรณีของลูกจ้างที่นายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งและไม่นำคดีไปสู่ศาล รองอธิบดี กสร. ระบุ นิติกรของกรมได้แจ้งความดำเนินคดีอาญานายจ้าง ณ สถานีตำรวจนครบาลดอนเมือง และได้ประสานลูกจ้างผู้ร้องให้นำคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานไปดำเนินคดีแพ่งนายจ้างต่อศาลแรงงาน เพื่อดำเนินการติดตามสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างตามกฎหมายต่อไป

พร้อมได้แนะนำให้ลูกจ้างที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกเลิกจ้างกรณีไม่ได้รับค่าชดเชย หรือสิทธิประโยชน์อื่น เช่น ค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี เป็นต้น  ยื่นคำขอรับเงินสงเคราะห์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง โดยลูกจ้างบริษัทนี้จะมายื่นคำขอในวันที่ 10 ส.ค. นี้

นางโสภา กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีที่สถานประกอบกิจการได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และมีการเลิกจ้างลูกจ้างนั้น นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชย ให้กับลูกจ้างตามสิทธิที่พึงได้รับ ซึ่งเป็นสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานที่ลูกจ้างทุกคนต้องได้รับ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 หากนายจ้าง ลูกจ้าง มีข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อกฎหมายสามารถสอบถามได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือโทรศัพท์สายด่วน 1506 กด หรือ 1546