มูลนิธิบูรณะนิเวศ เปิดข้อมูลกระจายตัวโรงงานในพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล พบมี 11 เเห่ง ศักยภาพผลิตสูงเท่า 'หมิงตี้ฯ' หวั่นซ้ำรอย หากไม่เข้มงวดรัดกุม ขณะที่ รง.ลำดับที่ 44-53-53(5) พบจำนวนมาก

 

วันที่ 29 ก.ค.2564 มูลนิธิบูรณะนิเวศ แถลงข่าวถึงผลจากการสำรวจการกระจายตัวของโรงงานลำดับที่ 44 โรงงานลำดับที่ 53 และโรงงานลำดับที่ 53(5) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยโรงงาน 3 ลำดับหรือ 3 ประเภทดังกล่าวประกอบกิจการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์พลาสติกหรือโฟมที่ใช้สารเคมีหรือมีการเก็บสารอันตราย คล้ายกับโรงงานของบริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด ซึ่งเกิดเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่ ผ่านมา และส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก สร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนตลอดจนทรัพย์สินของประชาชน และยังก่อมลพิษเป็นบริเวณกว้างดังที่ปรากฏในหน้าสื่อมวลชน

 

(ล้อมกรอบ 1.“โรงงานลำดับที่ 44” ตามบัญชีประเภทโรงงานอุตสาหกรรม: โรงงานที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตยางเรซิน สังเคราะห์ ยางอีลาสโตเมอร์ พลาสติก หรือเส้นใยสังเคราะห์ซึ่งมิใช่ใยแก้ว.

2. “โรงงานลำดับที่ 53” ตามบัญชีประเภทโรงงานอุตสาหกรรม: โรงงานที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์พลาสติก มีทั้งสิ้น 9 ประเภทย่อย.

3 “โรงงานลำดับที่ 53(5)” ตามบัญชีประเภทโรงงานอุตสาหกรรม: โรงงานที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับการทำพลาสติก เป็นเม็ด แท่ง ท่อ หลอด แผ่น ชิ้น ผง หรือรูปทรงต่าง ๆ)

 

โดยจากการสำรวจของมูลนิธิบูรณะนิเวศพบว่า ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีโรงงานทั้ง 3 ประเภทนี้กระจายอยู่ในหลายพื้นที่ โดยพื้นที่ที่มีโรงงานลำดับที่ 53 และ 53(5) ตั้งอยู่หนาแน่นสูงสุดคือ อ.เมืองสมุทรสาคร และอ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร โดยในทั้งสองอำเภอมีโรงงานลำดับที่ 53(5) ถึง 339 แห่ง และมีโรงงานลำดับที่ 53 ถึง 993 แห่ง

ลำดับถัดมาพบว่ามีพื้นที่ที่มีโรงงานลำดับที่ 53(5) มากกว่า 50 แห่ง ต่อ 1 อำเภอ ได้แก่ อ.สามพราน จ.นครปฐม อ.เมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ และอ.บางพลี จ.สมุทรปราการ โดยทั้ง 3 อำเภอมีโรงงานลำดับที่ 53 กว่า 100 แห่ง/อำเภอ โดยเฉพาะ อ.บางพลี ซึ่งมีมากถึง 237 แห่ง

สำหรับในส่วนของโรงงานลำดับที่ 44 มีความหนาแน่นสูงสุด ในพื้นที่จ.สมุทรปราการ โดยเฉพาะในอ.บางพลี และอ.บางเสาธง

 

 

 

นอกจากนั้น มูลนิธิบูรณะนิเวศยังได้ทำการสำรวจโรงงานทั้ง 3 ประเภทดังกล่าว ที่มีกำลังเครื่องจักรสูง กว่า 10,000 แรงม้า โดยอ้างอิงจากการที่โรงงานของบริษัทหมิงตี้ฯ มีกำลังเครื่องจักร 11,489 แรงม้า ทั้งนี้ เครื่องจักรที่มีกำลังแรงม้าสูงย่อมแสดงถึงศักยภาพการผลิตที่สูง ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะมีการกักเก็บสารเคมี อันตรายในปริมาณสูงตาม

โดยจากการสำรวจพบว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีโรงงานผลิตพลาสติก หรือโรงงานลำดับที่ 53 (5) ที่มีเครื่องจักรในกำลังแรงม้าระดับนี้อยู่ถึง 5 โรง กระจายตัวอยู่ใน 5 พื้นที่ ได้แก่ อ.บางพลี อ. บางเสาธง จ.สมุทรปราการ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เขตหนองแขม และเขตมีนบุรี กรุงเทพฯ

ส่วนโรงงานลำดับที่ 44 มีเครื่องจักรในกำลังแรงม้าระดับนี้มีอยู่รวมทั้งสิ้น 6 โรง โดยตั้งอยู่ใน 5 พื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร อ.บางพลี อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี และในเขตบางเขน กรุงเทพฯ โดยในอ.คลองหลวงนั้นมีโรงงานลำดับที่ 44 มีเครื่องจักรในกำลังแรงม้าระดับนี้อยู่ถึง 2 โรงงาน

จากข้อมูลในส่วนนี้อาจกล่าวได้ว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีโรงงานลักษณะเดียวกันและมีศักยภาพการผลิตสูงเทียบเท่ากับโรงงานของบริษัทหมิงตี้ฯ อยู่ถึง 11 โรงงาน ซึ่งมูลนิธิบูรณะนิเวศได้แสดงความวิตกว่า หากไม่มีมาตรการความปลอดภัยและการกำกับดูแลที่เข้มงวดรัดกุมเพียงพอ ก็อาจเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นได้

นอกจากนั้น มูลนิธิบูรณะนิเวศยังได้ทำการรวบรวมข้อมูลกรณีเพลิงไหม้โรงงานพลาสติกและโรงงานรีไซเคิล ตั้งแต่ปี 2560 - 15 ก.ค. 2564 พบว่าในระยะเวลาเพียง 4 ปีกว่า มีอุบัติภัยเช่นนี้เกิดขึ้นถึง 62 ครั้ง มีหลายกรณีที่ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน และก่อให้เกิดมลภาวะในลักษณะสารโลหะหนักและสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานด้วย