สั่งปิดบริษัท "ไทยแอโรว์" หลังติดเชื้อหนัก ฝืนคำสั่งนำกลุ่มเสี่ยงกลับมาทำงาน ฟากตำรวจพร้อมฟันโทษหากผู้ร้องทุกข์พิสูจน์พบความผิด

 

วันนี้ (21 ก.ค.2564) นายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา เซ็นหนังสือคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ 67/2564 เพื่อปิดบริษัท ไทยแอโรว์ จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 74 หมู่ 4 ถนนฉะเชิงเทรา-พนมสารคาม ตำบลเสม็ดใต้ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ไว้เป็นการชั่วคราว ซึ่งก่อนหน้านี้ มีข้อมูลการติดตามและสอบสวนโรคของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขพบว่า มีผู้ติดเชื้อซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานของสถานประกอบการแห่งนี้หลายราย จึงได้สั่งการตามมาตรการป้องกันและระงับยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไปตามขั้นตอนแล้ว ซึ่งผู้ติดเชื้อได้นำตัวเข้าทำการรักษา ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ได้มีคำสั่งให้ดำเนินการกักตัวตามมาตรการสาธารณสุข และปิดทำความสะอาดพื้นที่ที่พบการติดเชื้อนั้นเป็นเวลา 3 วัน แต่ทางบริษัทดังกล่าว ได้นำผู้ที่ถูกกักตัวเพราะมีความเสี่ยงสูง กลับเข้ามาทำงานตามปกติ ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กระจายเป็นวงกว้างภายในโรงงานและสู่ภายนอกโรงงาน ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชิงเทรา ต้องลงพื้นที่ไปติดตามสถานการณ์ด้วยตัวเอง ว่าสาเหตุที่ยังพบการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19 เกิดขึ้นจากสาเหตุใด จนมาพบว่า บริษัทแห่งนี้มีพนักงานมากกว่า 4,300 กว่าคน และพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อแล้วเข้ารับการรักษาตัวแล้วจำนวนหนึ่ง ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ได้ถูกกักตัวเพื่อรอดูอาการ 14 วัน ตามมาตรการของสาธารณสุข แต่บริษัทกลับนำพนักงานที่ถูกกักตัว กลับเข้ามาทำงานตามปกติอีกครั้ง

ดังนั้น ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฉะเชิงเทรา จึงได้มีมติในที่ประชุม ให้ดำเนินการสั่งปิดบริษัท ไทยแอโรว์ จำกัด ไว้เป็นการชั่วคราว 14 วัน เพื่อหยุดการแพร่เชื้อภายในและภายนอกโรงงาน พร้อมกับให้ใช้สถานที่ดังกล่าว เป็นสถานที่สำหรับคุมไว้สังเกตอาการผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และสถานที่พักคอย (Community Isolation Center) โดยห้ามมิให้ผู้ใดเข้า-ออก สถานที่ดังกล่าวโดยเด็ดขาด เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย และให้เจ้าของผู้ดูแลสถานที่ หรือผู้จัดการสถานที่ดังกล่าว ถือปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรการของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่กำหนดโดยเคร่งครัด โดยให้นายอำเภอบางคล้า เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ โดยบูรณาการร่วมกับส่วนราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการกำกับดูแล ตรวจสอบ ควบคุมการปฏิบัติในพื้นที่ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2564 จนถึงวันที่ 3 สิงหาคม 2564

ด้าน พ.ต.อ.พรชัย กิตติชญาน์ธร ผกก.สภ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา เปิดเผยว่า เรื่องมาตรการควบคุมโควิด-19 ในพื้นที่นั้น เป็นการพิจารณาร่วมกันหลายฝ่าย ทั้งสาธารณสุขจังหวัด ฝ่ายปกครอง ท้องถิ่น และตำรวจ ส่วนโรงงานไทยแอโรว์จะมีความผิดหรือไม่นั้นต้องตรวจสอบว่าการปฏิบัติมีความรุนแรงหรือไม่ มีความผิดแค่ไหนอย่างไร โดยท้องถิ่นหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมาร้องทุกข์ ซึ่งตำรวจพร้อมดำเนินการหากมีผู้มาร้องทุกข์และตรวจพิสูจน์พบการกระทำความผิด ส่วนการปิดโรงงานดังกล่าวนั้น เนื่องจากเป็นโรงงานขนาดใหญ่ มีพนักงานจำนวนมาก ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา จึงเห็นควรที่จะสั่งปิดทำการไปก่อน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดภายในจังหวัด ส่วนตัวเชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้น และหวังว่าทั้งประเทศจะมีผู้ติดเชื้อลดลง