ผู้สื่อข่าวออนไลน์ช่อง8 รายงานว่า มีการรณรงค์ล่ารายชื่อประชาชนบนเว็บไซต์ Charge.org เพื่อเสนอให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปลด ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ในฐานะที่ปรึกษาสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 ให้กับรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

โดยระบุว่า หมอยง มีความเห็นในด้านวัคซีนที่ผิดเพี้ยนไปจากบทความทางวิชาการ และสนับสนุนวัคซีนที่ด้อยประสิทธิภาพอย่าง Sinovac โดยไม่มีหลักฐานทางวิชาการมารองรับ ซึ่งผู้เริ่มการณรณงค์นี้อ้างตัวเป็นแพทย์คนหนึ่งในประเทศไทย ล่าสุดมีผู้ลงชื่อร่วมโครงการกว่า 4.6 พันคนแล้ว

 

 

 สำหรับเนื้อหาในโพสต์ระบุว่า

 

เนื่องด้วยสถานการณ์ Covid-19 ที่กำลังระบาดอยู่ในประเทศไทยและทั่วโลก

 

ปัจจุบันมีผลการศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนออกมามากมายหลายชนิด และทางแพทย์รวมถึงประชาชนทั่วไปได้รับทราบถึงประสิทธิภาพของวัคซีนชนิดต่างๆมากมาย ผ่านบทความทางวิชาการ ผ่านข่าวสารทั้งในและต่างประเทศมากมาย

 

และผลการศึกษานั้น ยังได้บ่งบอกถึงประสิทธิภาพของวัคซีนชนิดต่างๆ ตั้งแต่ Sinovac ที่ไม่สามารถลดอัตราการแพร่เชื้อ ในประเทศ ชิลี ตุรกี บราซิล และอินโดนิเซียได้ โดยทั้ง 4 ประเทศที่ใช้ Sinovac เป็นวัคซีนหลัก ยังไม่สามารถลดจำนวนผู้ป่วยใหม่ลงได้ เช่นในประเทศชิลี ที่มีอัตราการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มไปแล้วถึง 50% แต่ก็ยังมีจำนวนผู้ป่วย Covid-19 รายใหม่ไม่ได้ลดลงเลย และในประเทศอินโดนิเซีย ยังมีรายงานว่าบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากยังมีการติดเชื้อ Covid-19 อยู่ ทั้งๆที่ได้รับวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็มไปแล้ว

 

ในทางกลับกัน วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง เช่นวัคซีน mRNA ของบริษัท Pfizer หรือ Moderna ก็ได้มีบทความทางวิชาการและสถิติที่ชัดเจนว่าสามารถลดอัตราการแพร่กระจายเชื้อได้เป็นอย่างดี ถึงแม้จะมีการฉีดวัคซีนที่ครบ 2 เข็มเพียง 50% เท่านั้น และในบางประเทศ ประชาชนสามารถที่จะใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับปรกติแล้ว

 

และเมื่อกล่าวถึงนพ. ยง ภู่วรวรรณ ที่เป็นตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 ให้กับรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมีความเห็นในด้านวัคซีนที่ผิดเพี้ยนไปจากบทความทางวิชาการ และหลายต่อหลายครั้งที่สนับสนุนวัคซีนที่ด้อยประสิทธิภาพอย่าง Sinovac โดยไม่มีหลักฐานทางวิชาการมารองรับ

 

ยกตัวอย่างเช่น

 

1.ระยะห่างในการฉีดวัคซีน Astrazeneca ที่ตามคำแนะนำให้ฉีด 2 เข็มห่างกัน 12 สัปดาห์ แต่นายแพทย์ยงกลับแนะนำให้ฉีดห่างกัน 16 สัปดาห์ โดยไม่มีข้อสนับสนุนทางวิชาการ

 

2.ประสิทธิภาพของวัคซีน Sinovac เข็มที่ 3 ที่ไม่มีการศึกษาวิจัยเลย มีแต่คำพูดของประธานบริษัทผู้ผลิต Sinovac ที่กล่าวอ้างว่าอาจจะมีประสิทธิภาพดี แต่ นายแพทย์ยง กลับนำเรื่องการฉีดวัคซีน Sinovac เข็มที่ 3 มาให้คำแนะนำกับประชาชน ทั้งๆที่ไม่เคยมีหลักฐานทางวิชาการมาก่อนเลย

 

3.นายแพทย์ยง ไม่เคยแนะนำให้ประเทศนำเข้าวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงเข้ามาในประเทศ ทั้งๆที่ผลการศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนแตกต่างกันอย่างชัดเจน และราคาก็ไม่ได้แตกต่างกัน แต่ยังคงออกมาปกป้องวัคซีน Sinovac โดยที่ไม่มีหลักฐานทางวิชาการเพียงพอ

 

ในฐานะที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถาบันหลักของประเทศชาติในการดำรงไว้ซึ่งหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง จึงขอเรียกร้องให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการกับแพทย์ที่ไม่ทำตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ แพทย์ไม่ทำตามผลการศึกษาที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ แพทย์ที่ขายจรรยาบรรณของตนเองเพื่อรับใช้ทางการเมือง เพื่อให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยที่คงไว้ซึ่งความตรงไปตรงมาตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ต่อไป