ศบค. ยอมรับ พบโควิดสายพันธุ์บราซิลในไทย แต่อยู่ในสถานกักกันได้รับการดูแลที่เหมาะสม ระบุนายกฯ ลงนามตั้ง ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ โควิด - 19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล แล้ว พร้อมวางแผนกระจายวัคซีนรอบกรุงฯ เร่งฉีดวันละ 60,000 โดส

แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์  ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด -19 หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดประจำวันอังคารที่ 5 พฤษภาคม 2564 มียอดผู้ติดเชื้อยืนยันรายใหม่จำนวน 2,112 ราย เป็นผู้ติดเชื้อภายในประเทศ จากระบบเฝ้าระวังบริการ 1955 จากระบบของการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก ราย 152 รายเดินทางต่างประเทศ 5 ราย รวมยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 46,037 ราย รักษาตัวอยู่ 30,222 ราย อาการหนัก 1,042 รายใส่เครื่องช่วยหายใจ 343 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 15 คน รวมยอดผู้เสียชีวิตสะสม 318 คน

โดยผู้เสียชีวิต 15 คน โดยเป็นชาย 8 คน หญิง 7 คน ค่ามัธยฐานอายุอยู่ที่ 68 ปี แบ่งเป็นกรุงเทพฯ 4 คน นนทบุรี สุโขทัย จังหวัดละ 2 คน ปทุมธานี ระยอง ยะลา พระนครศรีอยุธยา ประจวบคีรีขันธ์ นครพนม นครปฐม จังหวัดละ 1 คน โดยส่วนใหญ่เป็นโรคความดันโลหิตสูงเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไขมันหลอดเลือดสูง โรคอ้วน โรคปอดเรื้อรัง โดยมีประวัติใกล้ชิดกับครอบครัวที่ติดเชื้อสัมพันธ์ผู้ติดเชื้อยืนยันเดินทางจากพื้นที่เสี่ยงเช่นกรุงเทพฯอาศัยในพื้นที่เสี่ยง

โดยยอดรวม ผู้ติดเชื้อในพื้นที่ กรุงเทพฯและปริมณฑลอยู่ที่ 1,314 รายจังหวัดอื่นๆ 73 จังหวัด793 ราย โดย 10 ลำดับจังหวัดที่ติดเชื้อสูงสุดประกอบด้วยกรุงเทพฯ 789 ราย นนทบุรี 249 ราย สมุทรปราการ 226 ราย ชลบุรี 110 ราย สุราษฎร์ธานี 65 ราย สมุทรสาคร 51 รายปทุมธานี 50 ราย เชียงใหม่ 40 ราย สงขลา 36 ราย นครศรีธรรมราช 32 รายและปัตตานี 32 ราย

นอกจากนี้ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 หรือ ศปก.ศบค. มีการรายงานพฤติกรรมการป้องกันตัวเองของประชาชน จากอสมเก็บตัวอย่างในช่วง 15 เมษายนถึง 30 เมษายน จะเห็นได้ว่า พฤติกรรมของประชาชนที่ตอบแบบสำรวจ จะเห็นได้ว่าใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาอยู่ที่ร้อยละ 93.3 ล้างมือบ่อยๆด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ร้อยละ 82.3 การรับประทานอาหารโดยใช้ช้อนกลางหรือช้อนส่วนตัว การเว้นระยะห่าง และระวังไม่เอามือมาจับบริเวณใบหน้าจมูกปาก จึงอยากให้รักษามาตรการเหล่านี้จึงจะสามารถช่วยกันลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันได้

นอกจากนี้ สืบเนื่องจากการประชุมบ่ายวันนี้ ที่มีพลเอกณัฐพลนาคพาณิชย์เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติหรือสมช.ในฐานะผอ.ศปก.ศบค. มีการทำรายละเอียดคำสั่งเสนอนายกรัฐมนตรีลงนาม ตั้งแต่เมื่อวานนี้ เสนอแต่งตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ โควิด - 19 ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อเป็นการบูรณาการการทำงาน  โดยมีนายกรัฐมนตรีในฐานะผอ.ศบค.จะเป็นผู้อำนวยการศูนย์ โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 5 ฝ่ายประกอบด้วย ฝ่ายอำนวยการ ฝ่ายปฏิบัติการการตรวจเชิงรุก ฝ่ายบริหารจัดการผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยง ฝ่ายจัดการบริหารพื้นที่ และฝ่ายบริหารจัดการการฉีดวัคซีน โดยทั้งหมดนี้จะมีผู้อำนวยการทุกเขต 50 เขตเป็นผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมการแพร่ระบาด โควิด -19 ในระดับเขต ซึ่งแต่ละเขตจะมีการทำงานประสานกันในเรื่องข้อมูลบริหารเตียงการดูแลผู้ติดเชื้อและผู้เสี่ยงสูง และกระจายวัคซีน เพื่อการแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านสาธารณสุข นำโดย นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายแพทย์อุดมคชินทร นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา นอกจากนี้คณะกรรมการที่ปรึกษายังมีคณบดีในหลายๆหน่วยงานหลายองค์กรเป็นคณะผู้บริหารในแต่ละองค์กรที่จะเข้ามาช่วยกัน เพื่อให้สถานการณ์ในกรุงเทพฯและปริมณฑลนั้นลดลงได้อย่างรวดเร็ว

ส่วนการทำงานของ 50 เขต แต่เห็นการรายงานผู้ติดเชื้อ ที่ผ่านมาในเขตคลองเตย เขตปทุมวัน ซึ่งมีการเริ่มทำงานไปแล้วโดยในพื้นที่กรุงเทพมหานครได้มีการรายงานการแพร่ระบาดในส่วนของเขตปทุมวัน โดยผู้อำนวยการเขตปทุมวันได้นำเสนอข้อมูล ซึ่งในส่วนเขตปทุมวัน สอดคล้องกับการคัดกรองเชิงรุกในชุมชนที่ทำอยู่อย่างต่อเนื่อง จาก 5 เมษายนถึง 4 พฤษภาคม มีการตรวจคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่ชุมชนยอดรวม 30,000 ราย 1,586 รายคิดเป็น 3.97 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ชุมชนแขวงลุมพินีแขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน มีพื้นที่อยู่ที่ 5.6 ตารางเมตร มีชุมชนอาศัยหนาแน่น 6 ชุมชน และ 1 เคหะชุมชน มีประชากรทั้งสิ้น 29581 คน พบรายงานผู้ติดเชื้อ 162 ราย ซึ่งทั้งหมดเข้ากระบวนการรักษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอีก 304 คนอยู่ในเกณฑ์ผู้สัมผัสเสียงสูง ซึ่งเขตปทุมวันได้ให้กักตัวอยู่ที่บ้าน ซึ่งไม่ใช่ Home quarantine เนื่องจากยังไม่ใช่ผู้ป่วย ส่วนการพักคอยการส่งต่ออยู่ในแผนที่จัดขึ้นใน 50 เขต

ส่วนในพื้นที่กรุงเทพมหานครจะมีการลงพื้นที่ตรวจคัดกรองเชิงรุกเพิ่มเติม ในส่วนชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ เคหะบ่อนไก่ และในวันที่ 5 ถึง 10 พฤษภาคม จะยังมีการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องวันละอย่างน้อย 2000 คนต่อวัน และจะลงตรวจคัดกรองเชิงรุกในสถานประกอบการอีก 1,000 คน ส่วนเขตอื่นๆก็มีการทำงานอย่างคู่ขนาน เช่นคลองเตย มีการลงพื้นที่เพื่อที่จะคัดกรองเชิงรุก การฉีดวัคซีน

ทั้งนี้ทางกรุงเทพฯจะมีการหารือร่วมกันในการกระจายการฉีดวัคซีน ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงรวมถึงความพร้อมในการบริหารจัดการ เนื่องจากมีประชากรรวมแล้วกว่า 7 ล้านคน การระดมฉีดวัคซีน 50 เขตในกรุงเทพฯน่าจะอยู่ที่ 60,000 รายต่อวันเป็นอย่างน้อย

ส่วนกรณีการเปิดเผยข้อมูลว่าพบการแพร่ระบาดเชื้อโควิด -19 สายพันธุ์บราซิลในประเทศไทยนั้น แพทย์หญิงอภิสมัย ระบุว่า การที่มีบุคคลต่างประเทศเดินทางเข้าประเทศไทย จะต้องอยู่ในสถานการณ์ที่รัฐจัดให้หรือ State quarantine นอกจากจะมีการตรวจหาเชื้อ covid แล้วขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เพิ่มมาตรการ ที่ต้องตรวจสายพันธุ์เชื้อโควิด -19 ด้วย ยอมรับว่าขณะนี้เริ่มพบสายพันธุ์บราซิลในสถานกักกัน แต่ในเบื้องต้นไม่พบรายงานในส่วนชุมชน ขอยืนยันอีกครั้งว่าพบในสถานกักกัน ที่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม