รมว.ศธ.-บอร์ด ก.ค.ศ. พลิกโฉมวงการ "ครู" ครั้งใหญ่รอบ 15 ปี รับร่างเกณฑ์ใหม่เร่งสร้างครูมืออาชีพ-ก้าวหน้าในสายงาน

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2563 โดยในที่ประชุมดังกล่าว มีวาระสำคัญในเรื่องของมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยะฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สาเหตุที่ถือว่าเป็นวาระสำคัญนั้น เพราะหากเปรียบเทียบกับกฎเกณฑ์เดิมที่วางเอาไว้ในอดีต จะพบว่า เกณฑ์ใหม่นี้ ตัวคุณครูจะเห็นช่องทางการเติบโตในหน้าที่การงานที่ชัดเจน และสามารถอยู่ในสายการสอนได้ โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าต้องเข้าสู่สายบริหาร ซึ่งจะทำให้ระยะเวลาในการขยับเลื่อนตำแหน่ง จะมีความเหมาะสมและมีความถูกต้องมากยิ่งขึ้น

“ซึ่งจะทำให้คุณครูทุกท่าน สบายใจ และผมคิดว่า นี่จะเป็นของขวัญปีใหม่สำหรับคุณครู อันนี้คงต้องไปดูในรายละเอียดเปรียบเทียบระหว่างของเดิมกับของปัจจุบัน นี่ถือว่าเป็นแนวทางที่กระทรวงศึกษาธิการ พยายามจะสร้างความสบายใจให้คุณครู เพื่อให้เห็นเส้นทางอาชีพที่ชัดเจน และตระหนักว่าเป็นอาชีพที่สำคัญ” นายณัฏฐพล กล่าว

นอกจากนี้ นายณัฏฐพล ย้ำด้วยว่า ยังมีอีกหลาย ๆ เรื่อง ที่กระทรวงศึกษาธิการ พยายามเร่งปลดล็อกหรือแก้ไขปัญหาให้แก่คุณครู แต่ในขณะเดียวกันทางคุณครู ผู้บริหารสถานศึกษา และบุคลากรทางการศึกษา ต้องยอมรับว่าในทุก ๆ ขั้นตอน เพราะในทุก ๆ ปี หรือในทุก ๆ ช่วงชั้น ที่จะมีการเลื่อนตำแหน่ง ทุกท่านก็ต้องมีการพัฒนาตนเองอย่างเข้มข้น ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ หรือหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการเตรียมไว้

“ผมยืนยันว่า ในทุก ๆ ตำแหน่งที่คุณครู และผู้บริหารสถานศึกษาที่ต้องการจะขยับขึ้น กระทรวงศึกษาธิการจะวางแนวทางให้เห็นชัดเจน ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความเท่าเทียมกัน เพราะถือว่าเป็นโอกาสสำหรับทุก ๆ คน โดยขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละท่าน ซึ่งผมเองได้ยืนยันในเรื่องนี้มาตลอด ซึ่งจะเป็นทิศทางที่ดีสำหรับวงการการศึกษาของไทย” นายณัฏฐพล กล่าว

นายณัฏฐพล กล่าวสรุปด้วยว่า การประชุมบอร์ด ก.ค.ศ. ในครั้งนี้ ที่ประชุมได้อนุมัติกรอบร่างหลักการใหม่ ส่วนรายละเอียดยังมีหลายขั้นตอนต่อจากนี้ไป แต่วันนี้ก็ได้เห็นภาพชัดเจนถึงแนวทางที่จะทำ โดยมีข้อสังเกตอยู่บ้างในบางสายงานของบุคลากรทางการศึกษา แต่ทุกอย่างที่กระทรวงศึกษาธิการ กำลังจะปรับและทำให้ดีขึ้น เพื่อทำให้สะดวกขึ้น ทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น และบุคลากรทุกสายงานมีโอกาสเท่าเทียมกันมากขึ้น

ด้าน รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลาขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวในที่ประชุมบอร์ด ก.ค.ศ. ดังกล่าว โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่สำคัญ โดยได้ เห็นชอบ (ร่าง) มาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะเดิม ได้ใช้มานานแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 จนถึงปัจจุบันรวม 15 ปี ดังนั้น ก.ค.ศ. จึงได้วิเคราะห์และพิจารณาแล้ว เห็นว่า จำเป็นต้องปรับปรุงหน้าที่ความรับผิดชอบ ลักษณะงานที่ปฏิบัติให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของการจัดการศึกษาในปัจจุบัน รวมถึงระยะเวลาที่กำหนดในคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง และคุณสมบัติเฉพาะสำหรับวิทยฐานะตามมาตรฐานตำแหน่ง ซึ่งยังมีความเหลื่อมล้ำในความก้าวหน้าระหว่างสายงาน (Career Path)

รศ.ดร.ประวิต กล่าวด้วยว่า การปรับปรุงมาตรฐานดังกล่าว จะเป็นการจูงใจให้บุคลากรที่เก่งเข้ามาสู่ระบบการศึกษา และมีความก้าวหน้าในวิชาชีพตามความรู้ ความสามารถจริง เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการในการยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ โดยคุณภาพของครู คือกุญแจสำคัญ

สำหรับมาตรฐานดังกล่าว ที่จะมีการปรับปรุงใหม่ ได้แก่ มาตรฐานตำแหน่ง ซึ่งในส่วนนี้ มีการกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบ ลักษณะงานที่ปฏิบัติ ให้ทันสมัย สอดคล้องกับการปฏิบัติงานจริง และมีหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละตำแหน่งตามที่กฎหมายกำหนด

อีกทั้งยังได้ปรับปรุงคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง ด้วยการส่งเสริมให้ทุกสายงานมีเส้นทางความก้าวหน้าในวิชาชีพ ทั้งในสายงานของตนเอง และสามารถเปลี่ยนตำแหน่งไปสู่สายงานอื่นได้ โดยคำนึงถึงการสั่งสมประสบการณ์ ระยะเวลาที่เหมาะสมในการเข้าสู่ตำแหน่งอื่น และประโยชน์ต่อการจัดการศึกษา

ส่วนในด้านมาตรฐานวิทยฐานะนั้น รศ.ดร.ประวิต บอกว่า จะมุ่งเน้นให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มีความรู้ ความสามารถ และทักษะที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานในการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ รวมทั้งความรู้ ความสามารถ ทักษะด้านภาษาต่างประเทศ เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงานในยุคปัจจุบัน ซึ่งมีความสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ

รวมถึงการมุ่งเน้นในการปรับระยะเวลาการให้มีวิทยฐานะ และเลื่อนวิทยฐานะ ที่กำหนดระยะเวลาเป็น 4 ปี เนื่องจากระยะเวลาดังกล่าว มีความเหมาะสมในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความสามารถ สมรรถนะ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ประกอบกับหลักของวาระการดำรงตำแหน่งกำหนดให้อยู่ในวาระในวาระ 4 ปี เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติงาน และการบริหารจัดการ

แต่ทั้งนี้จะสามารถลดระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง หรือการดำรงวิทยฐานะจาก 4 ปี เหลือ 3 ปี โดยต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข ตามข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้ บุคลากรดังกล่าว ต้องเป็นผู้มีความสามารถทางภาษาต่างประเทศ ซึ่งจะเทียบกับเกณฑ์ผลการทดสอบ CEFR ที่คุรุสภาได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ในการประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครูฯ อีกทั้งต้องเป็นผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่พิเศษ (พื้นที่เกาะ ภูเขาสูง พื้นที่มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงของประเทศ) เป็นผู้พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง (การได้รับวุฒิการศึกษาที่สูงขึ้น) และเป็นผู้ผ่านการประเมินสมรรถนะตามกรอบคุณวุฒิอาชีพ จากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ

“นอกจากเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งดังกล่าวแล้ว ต้องมีผลการประเมินการเลื่อนเงินเดือนระดับดีเด่น 4 รอบการประเมินติดต่อกันด้วย” รศ.ดร.ประวิต กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน ยังได้กำหนดบทเฉพาะกาลว่า ผู้ใดมีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง หรือคุณสมบัติเฉพาะสำหรับวิทยฐานะ ตามมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะเดิมอยู่แล้ว ให้ใช้คุณสมบัติดังกล่าวได้อีก 1 ครั้ง ภายหลังจากหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานตำแหน่งฯ ใหม่ มีผลบังคับใช้

ส่วนมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะเดิม ให้ใช้เฉพาะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ที่ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเจ้าหน้าที่บริหารการศึกษาอยู่ก่อนวันที่มาตรฐานตำแหน่งฯ ใหม่ใช้บังคับเท่านั้น และหากข้าราชการครู ดังกล่าวมีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งของตำแหน่งใดในมาตรฐานตำแหน่งเดิม ก็ให้มีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนั้นได้เช่นเดิม แต่ เมื่อตำแหน่งดังกล่าวว่างลง ให้ยกเลิกมาตรฐานตำแหน่ง และมาตรฐานวิทยฐานะเดิม

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ค.ศ. ยังอนุมัติการกำหนดกรอบอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพิ่มเติม โดยให้ปรับเพิ่มกรอบอัตรากำลังครูผู้สอน แห่งละ 12 อัตรา จากเดิม 60 อัตรา เป็น 72 อัตรา ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของทางราชการ และเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดการศึกษาในโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย