คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติรับทราบแนวทางผ่อนปรนกิจการ ย้ำต้องใช้มาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด

(29 เม.ย. 2563) การประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2563 ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุม ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการตรวจหาเชื้อฯ เพื่อการเฝ้าระวังในกลุ่มประชากรเสี่ยง และสถานที่เสี่ยง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวังค้นหาผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อ โดยเพิ่มอัตราการตรวจจาก 2,000 คนต่อประชากรล้านคน เป็น 5,000 คนต่อประชากรล้านคน

โดยกำหนดกลุ่มประชากรที่ต้องเฝ้าระวังเรียงลำดับ ดังนี้
1.กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
2.ผู้ต้องขังรายใหม่
3.กลุ่มอาชีพที่พบปะผู้คนจำนวนมาก เช่น คนขับหรือพนักงานประจำรถสาธารณะ
4.กลุ่มอื่น ๆ ตามสถานการณ์

นอกจากนี้ ในที่ประชุมได้รับทราบข้อเสนอแนวทางการผ่อนปรนกิจการ กิจกรรมในการควบคุมโรคโควิด-19 เพื่อนำไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเสนอแบ่งกลุ่มกิจการ กิจกรรมที่สามารถเปิดกิจการได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
1.กิจการ หรือ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตประจำวันระดับพื้นฐาน เช่น ร้านอาหารที่เปิดโล่ง ร้านตัดผมที่ไม่มีแอร์คอนดิชัน ตลาด
2.กิจการ หรือ กิจกรรมที่มีผลกระทบต่อคนจำนวนมาก และต่อเศรษฐกิจและสังคม เช่น ห้างสรรพสินค้า ภัตตาคาร นวดแผนไทย
3.กิจการ หรือ กิจกรรมที่เพิ่มความสะดวกสบายต่อการใช้ชีวิต เช่น ฟิตเนส โรงยิม สปา กองถ่ายภาพยนตร์
4.กิจการ หรือ กิจกรรมที่ไม่ควรให้เปิดดำเนินการ คือสถานที่ที่เป็นที่แออัด คับแคบ ปิดทึบ มืดสลัว ทำให้มองพื้นผิวสัมผัสไม่ชัดเจน และหรือ มีกิจกรรมที่ทำให้ผู้คนต้องมีความใกล้ชิดกัน มีการรวมกลุ่มกัน มีการพูดคุยกันหรือส่งเสียงดัง เช่น สนามมวย บ่อน สถานบันเทิง

อย่างไรก็ตาม ทุกกิจการหรือกิจกรรมต้องมีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และเน้นมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคลทุกแห่ง ซึ่งได้เสนอข้อมูลดังกล่าวต่อศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานทราบแล้ว