รพ.สนาม พร้อมรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มแรก เข้าพักรักษาตัว โดยเตรียมทั้งทีมแพทย์ พยาบาลคอยดูแล รวมไปถึงจิตแพทย์ ที่จะมาให้คำปรึกษาคนไข้ เพราะคนไข้รักษาตัวนาน หวั่นอาจเกิด "ภาวะซึมเศร้า"

ผศ.นพ.ฉัตรชัย​ มิ่งมาลัยรักษ์ รองผู้​อำ​นว​ยการ​ฝ่าย​พัฒนา​อย่าง​ยั่งยืน และผู้อำนว​ยการ​โรงพยาบาล​สนาม​ธรรมศาสตร์​ เผยว่า อาคารดีลักซ์ ที่ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นโรงพยาบาลสนาม มีทั้งหมด 14 ชั้น ชั้นละ 22 ห้อง รวมทั้งหมด 308 ห้อง ซึ่งจะรับผู้ป่วยได้ 308 คน แยกผู้ป่วยในการพักรักษาตัว ห้องละ 1 คน ที่โรงพยาบาลสนาม จะเปิดให้บริการทีละชั้น ชั้นละ 22 ห้อง ซึ่ง 1 ชั้น จะใช้แพทย์ประมาณ 2 คน และจำนวนพยาบาล 2 คนต่อชั้น หลังจากนั้นก็จะเป็น 1 คนต่อชั้นซึ่งมีทุกชั้น คนไข้ที่มาพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนามส่วนใหญ่เป็นคนไข้อาการเบา ซึ่งหน้าที่หลักก็คือการสังเกตอาการของคนไข้ว่ามีอาการหนัก หรือแย่ลงไหม แต่สำคัญกว่านั้น คือ เรื่องของสภาพจิตใจ ซึ่งที่โรงพยาบาลสนาม ได้มีการจัดเตรียมจิตแพทย์ และนักสังคมสงเคราะห์ ที่จะมาให้คำปรึกษาและคนไข้ที่เข้ามาพักรักษาตัวที่นี่ จะได้รับ การตรวจทางด้านจิตเวช และจะมีการพูดคุยด้านสังคมสงเคราะห์ เพื่อจะได้มีการวางแผนบริหารจัดการ เพราะคนไข้ที่มาอยู่ที่นี่ 14 วัน หรือ นานกว่านั้น อาจจะเกิดภาวะซึมเศร้า หรือ เกิดภาวะท้อแท้ และจะมีนักสังคมสงเคราะห์ คอยประสานกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อที่จะให้มีเจ้าหน้าที่ไปดูที่บ้านคนไข้ ถ้าหากคนไข้คนไหนเป็นห่วงบ้าน

สำหรับอุกรณ์ทางการแพทย์ตอนนี้อุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่ รพ.สนาม ยังขาดแคลน คือ ปรอทวัดไข้ และตัววัดออกซิเจนในเลือด เพราะตึกนี้มีทั้งหมด 308 ห้อง รับคนไข้ได้ 308 คน ซึ่งจะให้คนไข้ได้ดูแลตัวเอง วัดไข้เอง วัดออกซิเจนในเลือดด้วยตัวเอง และรายงานผลให้กับทีมแพทย์ เพราะฉะนั้น อุปกรณ์จึงต้องมีคนละชุด คนไข้ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำเป็นต้องคอยสังเกตสัญญาณชีพต่างๆ โดยเฉพาะภาวะออกซิเจนในเลือด เพราะว่าคนไข้เหล่านี้ จะมีปัญหาเรื่องของการติดเชื้อที่ปอด เมื่อเขามีอาการที่รุนแรงขึ้น ออกซิเจนในเลือดจะลดต่ำลง จึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือทั้ง 2 อย่างต้องมีเพียงพอ  เพราะสิ่งนี้เป็นตัวช่วยในการดูแลอาการของคนไข้ว่าแย่ลงหรือว่าดีขึ้น และต้องดูอาการวันต่อวัน

ทีมโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ อยู่ระหว่างการปรึกษากันว่าจะมีการรับจิตอาสา ที่จะเข้ามาช่วยในส่วนงานไหนได้บ้าง จิตอาสาที่จะเข้ามาช่วยงานตรงนี้ ต้องเป็นจิตอาสาด้านวิชาชีพ เช่น นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยาต่างๆ ที่จะมาช่วยพูดคุย หรือ support คนไข้ ส่วนจิตอาสาอีกกลุ่ม น่าจะเป็น จิตอาสาที่ช่วยไปดูบ้านของคนไข้ ถ้าเราดูการบริหารงานจากประเทศจีน คือว่า หมอที่มาทำงาน แล้วกลับบ้านไม่ได้ หรือแม้แต่ผู้ป่วย พักที่โรงพยาบาลแล้วกลับบ้านไม่ได้ เขาจะมีจิตอาสาที่ช่วยดูแล ส่งข้าวส่งน้ำให้กับญาติของคนไข้ จุดนี้เป็นอีกจุดนึง ที่อาจจะมีขึ้นในอนาคต ซึ่งทางทีมก็อยู่ระหว่างการปรึกษากันว่าจะจัดการเรื่องนี้ให้ครบวงจรได้อย่างไร

 

ด้าน รศ.นพ.ดิลก ภิยโยทัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ มีความพร้อมทั้ง 2 ส่วนแล้ว ส่วนแรก คือ โครงสร้างกายภาพ สถานที่ และอีกหนึ่งส่วน คือ ระบบในการดูแลรักษาพยาบาล ซึ่งอาคารดีลักซ์ ที่ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นโรงพยาบาลสนาม มีทั้งหมด 14 ชั้นชั้นละ 22 ห้อง รวมทั้งหมด 308 ห้อง ซึ่งจะรับผู้ป่วยได้ 308 คน แยกผู้ป่วยในการพักรักษาตัวห้องละ 1 ความพร้อมทางด้านของโครงสร้างตึก ก็ได้รับการเตรียมความพร้อม จากทางทีมโรงพยาบาลสนาม ร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาช่วยดูแลในเรื่องของสถาน กล้องวงจรปิด ระบบของการดูแลคนไข้ และอุปกรณ์ที่ใช้สื่อสารระหว่างคนไข้ที่อยู่ในห้องกับทีมแพทย์ พยาบาลที่อยู่ด้านหน้า เพื่อลดการสัมผัสใกล้ชิดกัน เพื่อเป็นการลดการกระจายโรค

โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์แห่งนี้ มีการนำเทคโนโลยี เรื่องของระบบการสื่อสารมาประกอบใช้ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน โดยมีการติดตั้งกล้องวงจรปิด ภายในห้องพักของผู้ป่วย ซึ่งกล้องวงจรปิดคนไข้สามารถสื่อสารกับแพทย์ได้ และ Robot ในการขนส่งอาหาร ที่จะนำมาใช้ในการส่งของเพื่อลดการแพร่เชื้อ ระหว่างบุคลากรกับผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด

โดยในวันพรุ่งนี้(26 มีนาคม 2563) 09.00 น.จะเริ่มเคลื่อนย้ายผู้ป่วยชุดแรก 2 คน จากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เข้าพักที่โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ผู้ป่วยที่จะเคลื่อนย้ายมาที่โรงพยาบาลสนาม จะเป็นผู้ป่วยที่พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์อยู่แล้ว และได้รับการรักษามาแล้วในระยะเวลาที่เฝ้าระวังนานพอสมควร มากกว่า 5-7 วัน และเป็นช่วงที่เตรียมความพร้อมก่อนกลับบ้าน แต่ตามหลักการโรคไวรัสโควิด-19 จะต้องดูอาการ จนกระทั่งปลอดเชื้อจริงๆ ผู้ป่วยที่จะมาพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนาม จึงเป็นผู้ป่วยที่มีอาการเบาแล้ว แต่ยังพบเชื้ออยู่ ก่อนที่ผู้ป่วยจะออกจากโรงพยาบาลสนาม เพื่อกลับบ้านก็จะต้องมีทีมแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ ของโรคนี้ก็จะมาดูแลและประเมินว่าปลอดเชื้อแล้ว แล้วก็จะมีขั้นตอนของการให้กลับบ้านต่อไป สำหรับการเลือกผู้ป่วยที่จะมาพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสนามก็จะต้องมีหลักเกณฑ์ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความพร้อมของผู้ป่วยและครอบครัว เพราะว่าอาจจะต้องเป็นการย้ายสถานที่ จึงต้องดูความสมัครใจของผู้ป่วยและความสะดวกของครอบครัว ถ้าหากมองในมุมมองของแพทย์ จะดูตามเกณฑ์ ถ้าอาการเบาแล้วเราก็มีความพร้อมรับเต็มที่ สิ่งที่ขาดเหลือสำหรับโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ คือ อุปกรณ์ป้องกัน ความปลอดภัยของบุคลากรเพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่อาสาช่วยกัน เพราะฉะนั้นบุคลากรจึงควรที่จะได้รับการดูแลที่ปลอดภัย ณ ขณะนี้อุปกรณ์ป้องกันมีเพียงพอ แต่ถ้าหากเริ่มเปิดแล้วและมีการขยายอาจจะไม่พอ

ระบบการขนส่งเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ที่จะมา รพ.สนาม โดยจะมาด้วยรถพยาบาล และมีเส้นทางที่ชัดเจน รถพยาบาล 1 คัน จะมีเพียงผู้ป่วยคนเดียว ไม่มีแพทย์พยาบาลมาด้วย เพราะผู้ป่วยอาการเบาแล้ว ส่วนผู้ขับรถที่จะขับมาส่งต้องมีการแต่งชุดป้องกันเต็มที่ เมื่อรถพยาบาลพาผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลสนาม หลังจากนั้นผู้ป่วยจะเดินเข้าไปภายในเส้นทางที่ทีมโรงพยาบาลสนาม เตรียมไว้ เพื่อเข้าไปในตัวอาคาร ซึ่งเป็นเส้นทาง ที่ใช้เฉพาะผู้ป่วย โดยจะแยกออกจากเส้นทางของเจ้าหน้าที่อย่างชัดเจน เมื่อเข้าไปในตัวอาคาร ก็จะมีลิฟท์เฉพาะ เพื่อขึ้นไปยังห้องพักที่เจ้าหน้าที่เตรียมไว้

สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ คือ ทีมอาจารย์แพทย์ จากคณะแพทย์ศาสตร์ อาจารย์แพทย์ จากวิทยาลัยแพทย์นานาชาติจุฬาภรณ์ อาจารย์แพทย์ จากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ แล้วก็มีบุคลากรทางพยาบาล ฝ่ายสนับสนุน จากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ร่วมกันเป็นทีม ในการเข้ามาทำงานที่นี่

 

  • รพ.สนาม พร้อมรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มแรก พรุ่งนี้
  • รพ.สนาม พร้อมรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มแรก พรุ่งนี้
  • รพ.สนาม พร้อมรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มแรก พรุ่งนี้