ส.อ.ท.ระบุจีเอ็มประกาศยุติผลิตรถยนต์ในไทยปีนี้มีผลจิตวิทยา ย้ำเป็นไปตามกลไกตลาดแข่งไม่ได้ต้องปิดโรงงาน ชี้ไม่กระทบเป้าผลิตปีนี้ 2 ล้านคัน ส่งออก 1 ล้านคัน ขายในประเทศ 1 ล้านคัน แนะรัฐแก้ปัญหาบาทแข็งค่า

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงกรณีที่บริษัท เจเนอรัล มอเตอร์(จีเอ็ม)ประกาศยุติการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยสิ้นปีนี้ว่า นับเป็นเรื่องของแผนการบริหารกิจการของจีเอ็มว่าจะเลิกผลิตหรือเพิ่มการผลิตในจุดใดบ้าง เพราะทางจีเอ็มลงทุนในประเทศจีนด้วยเช่นกันยอดขายกว่า 3 ล้านคัน ประสบผลสำเร็จสำหรับการลงทุนในเอเชีย ซึ่งปีที่ผ่านมายอดขายลดลงประมาณร้อยละ 9 ยอดขายในประเทศไทยรถกระบะยอดขายปีที่ผ่านมาก็ลดลงเช่นกัน และ 2 ปีที่ผ่านมายกเลิกการผลิตรถยนต์นั่งในประเทศไทยไปแล้วเช่นกัน ด้านโรงงานผลิตรถยนต์ ทางจีเอ็มขายให้กับเกรท วอล มอเตอร์ส์ ซึ่งเป็นกลุ่มทุนจีน

โดยการยุติการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยไม่น่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนอะไร เพราะจีเอ็มไม่มีบทบาทมากนักในไทย แต่ด้านจิตวิทยานั้นมีผล เพราะจีเอ็มเป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับหนึ่งของโลก มีประวัติยาวนานกว่า 100 ปีมาแล้วเติบโตในสหรัฐฯ และยอมรับว่าการประกาศยุติการผลิตของจีเอ็ม มีผลกระทบต่อแรงงานและผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ป้อนให้กับจีเอ็มบ้าง

"เรื่องนี้ถือเป็นข้อเตือนใจต่อภาครัฐว่าควรสร้างบรรยากาศในประเทศให้เป็นที่สนใจของนักลงทุนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นด้านยอดขายในประเทศและการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงด้านการส่งออก ประเทศไทยมีปัญหาเงินบาทแข็งค่า ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออก ซึ่งการส่งออกมี 2 รูปแบบคือ การส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปและชิ้นส่วนรถยนต์ การที่เงินบาทแข็งกระทบต้นทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ ส่วนผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นจะถอนตัวออกจากประเทศไทยตามจีเอ็มหรือไม่นั้น จะต้องติดตามต่อไปว่า การประกอบธุรกิจอยู่ในไทยแข่งขันได้หรือไม่ โดยต้องคำนึงระยะยาว ส่วนจุดแข็งของไทยคือการมีซัฟพลายเชนที่แข็งแกร่ง”

โดยก่อนหน้านี้มาสด้าทนเรื่องเงินบาทแข็งค่าไม่ไหวจึงย้ายฐานการผลิตรถยนต์บางรุ่นที่ผลิตเพื่อส่งออกเท่านั้นไปผลิตในประเทศญี่ปุ่น ด้านแรงงาน การประกาศยุติการผลิตของจีเอ็ม มีผลกระทบต่อแรงงานและผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ป้อนให้กับจีเอ็มบ้าง จึงขอเตือนภาครัฐให้ส่งเสริมรถยนต์ที่ใช้ฟอสซิลเป็นเชื้อเพลิงควบคู่กับการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า ไม่ใช่ส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าจนไม่เหลียวมองรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน หากเงินบาทยังคงแข็งค่าผู้ประกอบการรถยนต์อาจทนไม่ไหวเช่นกัน

สำหรับ จีเอ็มมียอดขายในประเทศต่ำกว่าร้อยละ 2 ของภาพรวมยอดขายรถยนต์ในไทยที่มียอดปีละประมาณ 1 ล้านคัน การไม่มีรถยนต์เชฟโรเลตให้กับกลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบก็มีรถยนต์อื่นที่ทดแทนได้ ดังนั้นทางกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.ยังคงยืนเป้าหมายยอดผลิตรถยนต์ปี 2563 ไว้ที่ 2 ล้านคัน แบ่งเป็นยอดขายในประเทศ 1 ล้านคัน และส่งออก 1 ล้านคัน