นักวิชาการผู้เขียนหนังสือ "เสวยราชสมบัติกษัตรา" สะท้อนให้เห็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีการรับวัฒนธรรมที่ผสมผสาน และอิทธิพลจากศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ รวมทั้งสถานที่ประกอบพิธี และเครื่องประกอบในพระราชพิธีที่มีความสำคัญ และมีความหมายถึงความยิ่งใหญ่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย
ผู้เขียนหนังสือ"เสวยราชสมบัติกษัตรา" ได้มาร่วมรายการเจาะประเด็น ทางช่อง 8 เพื่อบอกเล่าถึงความเป็นมาและความสำคัญของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่มีตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน
โดย ดร.นนทพร อยู่มั่งมี อธิบายคติของบรมราชาภิเษกมีรากฐานมาจากอินเดีย และมีการหลั่งรดน้ำ หรือ "อภิเษก" ซึ่งเป็นเรื่องของการเปลี่ยนสถานภาพ เพราะก่อนที่พระมหากษัตริย์จะขึ้นเสวยราชสมบัติ พระองค์ทรงเป็นเจ้านายในระดับปกติมาก่อน จึงต้องมีการชำระล้าง ซึ่งมีการทำพิธีพุทธาภิเษกหรือทำน้ำอภิเษกจากทั่วประเทศ โดยในอดีตจะใช้บรรดาพราหมณ์หรือราชบัณฑิตทั้งหลาย แต่ในตอนหลังระบบการปกครองเปลี่ยนไปมีการใช้สมาชิกรัฐสภาร่วมกับพราหมณ์ ซึ่งในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของไทย แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามพระราชนิยมแล้ว ก็เป็นการสะท้อนถึงการรับวัฒนธรรมที่หลากหลาย ให้เข้ากับของไทย แต่คงไว้ซึ่งความยื่งใหญ่ของสถาบันพระมหากษัตริย์
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ อีก 1 ผู้เขียนหนังสือ"เสวยราชสมบัติกษัตรา" ระบุว่า การแสดงออกทางสัญลักษณ์ขในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสิ่งหนึ่ง คือเครื่องประกอบในพระราชพิธี หรือเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ ซึ่งมีหลายชิ้น แบ่งออกเป็นหลายหมวด แต่แสดงถึงความเป็นสิริมงคลที่จะสถาปนาพระมหากษัตริย์ให้เป็นกษัตริย์โดยสมบูรณ์
ตัวอย่างหมวดที่สำคัญคือ เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ นับเป็นเครื่องราชูปโภคที่มีความสำคัญเพราะเป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงความเป็นพระราชา มีความหมายและความงดงามที่แสดงถึงความประณีตศิลป์ในงานศิลปะไทย อาทิ พระมหาพิชัยมงกุฎ ที่สะท้อนว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชภาระอันหนักที่ต้องเป็นประมุขของแผ่นดิน พระแสงขรรค์ชัยศรี สะท้อนความหมายว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นนักรบ ปกป้องบ้านเมืองและประชาราษฎร และแสดงถึงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ เป็นต้น
รวมทั้งสถาปัตยกรรมที่ใช้ในการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่ใช้พื้นที่บริเวณหมู่พระมหามณเฑียร ภายในพระบรมมหาราชวัง คือ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน ซึ่งมีความหมายที่ซ่อนไว้ ถึงทรงเป็นพระมหากษัตริย์ทั่วทั้งแว่นแคว้นทั้ง 8 ทิศ ความเป็นสมมุติเทพและสะท้อนภาพพระจักพรรดิราชโดยสมบูรณ์
ซึ่งประชาชน สามารถรับชมการถ่ายทอดสดพระราชพิธี ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย รวมทั้งสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 และ ร่วมเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค
ไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วันที่ 5พฤษภาคม พุทธศักราช 2562
และในโอกาสเสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท วันที่ 6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 เพื่อให้ประชาชนได้ชื่นชมพระบารมี ร่วมกันสวมเสื้อสีเหลือง ถวายพระพรชัยมงคลด้วยความจงรักภักดีโดยพร้อมเพรียงกัน