ชาวบ้านจาก 3 ตำบล ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวนกว่า 40 คน เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังถูกปลอมแปลงรายมือชื่อเพื่อกู้เงินกับกองทุนฟื้นฟูจังหวัด ทำให้เป็นหนี้รวมแล้วกว่า 43 ล้านบาท

วันที่ 4 มี.ค. 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ผ่านมา ชาวบ้านจาก 3 ตำบล ในพื้นที่อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 40 คน เดินทางเข้าให้การกับเจ้าหน้าที่สำนักงานกองทุนฟื้นฟูจังหวัดเพชรบูรณ์ รวมทั้งเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.หล่มเก่า กรณีถูกปลอมแปลงรายมือชื่อเพื่อกู้เงินจากกองทุนฟื้นฟูจังหวัดเพชรบูรณ์ ทำให้กลายเป็นหนี้รวมแล้วกว่า 43 ล้านบาท

โดย นางสง่า นาเมือง อายุ 62 ปี อยู่บ้านเลขที่ 4 หมู่ 5 ต.ฝายนาแซง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ หนึ่งในผู้เสียหาย เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า เมื่อประมาณปลายปี 2558 มีคนในหมู่บ้านเดียวกันมาชักชวนเพื่อที่จะกู้เงินฟื้นฟูจำนวน 10,000 บาท พร้อมทั้งขอสำเนาเอกสารบัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้าน ตนเองจึงมอบให้ไปพร้อมกับรับรองสำเนาถูกต้อง แต่ไม่ได้เซ็นต์สัญญาเงินกู้ใดๆ ทั้งสิ้น แต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ได้มีหนังสือจากกองทุนฟื้นฟูแจ้งมาว่าตนเป็นหนี้จำนวน 75,000 บาท ตนเองรู้สึกตกใจมากจึงได้ปรึกษากับลูกๆ และเดินทางไปพบกับเจ้าหน้าที่กองทุน จึงพบว่าถูกปลอมแปลงรายมือชื่อเพื่อขอกู้เงินกับกองทุนฟื้นฟูดังกล่าว

ด้านนายหินชนวน อโศกตระกูล หัวหน้าสำนักงานกองทุนฟื้นฟูจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากชาวบ้านได้รับใบแจ้งหนี้จากกองทุนฟื้นฟู ก่อนจะมาแสดงตัวและแจ้งว่าไม่ได้เป็นหนี้แต่อย่างใด ตนเองจึงทำการบันทึกข้อความพร้อมทั้งนำสัญญากู้ยืมมาให้ตรวจสอบ เบื้องต้นคาดว่าอาจจะถูกปลอมแปลงรายมือชื่อ รวมทั้งนำเอกสารนำไปใช้ในสัญญาสำนักงาน

จึงแนะนำให้ชาวบ้านเดินทางมาแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะก่อนหน้านี้ได้มีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นมาแล้วในพื้นที่อำเภอเขาค้อ และมีเกษตรกรได้รับความเสียหาย 13 คน ซึ่งขณะนี้เรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการดำเนินคดีอาญา และอยู่ในอำนาจของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เขต 6

สำหรับการทำสัญญากู้เงินปลอมนั้น พบว่ามีการทำ 2 ครั้ง โดยในครั้งแรกทำสัญญากู้เงินปลอมกับสหกรณ์การเกษตร 3 สหกรณ์ ซึ่งอยู่ในพื้นที่อำเภอหล่มเก่า จำนวน 198 คน จำนวนเงินกว่า 43 ล้านบาท จากนั้นได้ทำการปลอมแปลงเอกสารให้เป็นว่าเกษตรกรทั้ง 198 คน ไม่สามารถชำระหนี้ได้ และนำเอาสัญญาดังกล่าวไปให้กองทุนฟื้นฟู ซึ่งมีหน้าที่ช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ โดยกองทุนจะชำระหนี้ให้จากนั้นเกษตรกรก็ไปชำระหนี้กับกองทุนในอัตราดอกเบี้ยต่ำ แต่จะต้องมาทำสัญญากับกองทุน ซึ่งก็เกิดการปลอมแปลงลายมือชื่อเป็นครั้งที่สอง

ซึ่งในส่วนนี้เอง กองทุนฟื้นฟูก็กลายเป็นผู้เสียหาย ซึ่งกองทุนก็ได้ดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจนพ้นสภาพพนักงานไปแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินคดีอาญา ซึ่งอยู่ในอำนาจของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เขต 6 ดังที่กล่าวมาแล้ว