เด็กๆ ชาวโคกสะบ้า จังหวัดตรัง ใช้เวลาว่างมาร้อยลูกปัดมโนราห์ เป็นเครื่องประดับ หรือ ของที่ระลึกต่างๆ ซึ่งขายดีจนผลิตไม่ทัน เพราะ เป็นสินค้าที่ทำด้วยมือ และ มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น

เด็กๆ ชาวตำบลโคกสะบ้า อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง ใช้เวลาว่าง ร้อยลูกปัดมโนราห์ เพื่อใช้เป็นเครื่องประดับ หรือ ใช้เป็นของที่ระลึกต่างๆ ซึ่งขายดีจนผลิตไม่ทัน เพราะเป็นสินค้าที่ทำด้วยมือ และ มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น

เนื่องจาก หลายพื้นที่ของจังหวัดตรัง โดยเฉพาะในอำเภอนาโยง มีการจัดตั้งคณะมโนราห์ หรือ โนรา อยู่จำนวนมาก และ มีการสืบทอด การแสดงพื้นบ้านดังกล่าว ต่อเนื่องกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน มีการจัดตั้งโรงมโนราห์กลางที่ชื่อว่า "บ้านมโนราห์" ในตำบลโคกสะบ้า

นอกจาก จะมีการร่ายรำมโนราห์ และ การแสดงลูกคู่ หรือ นักดนตรีประจำคณะแล้ว  ยังได้นำเด็กๆ อายุตั้งแต่ 5 - 12 ปี ประมาณ 50 คน มาเรียนรู้ เรื่อง การร้อยลูกปัดมโนราห์ เพื่อเป็นเครื่องแต่งกายในการแสดง หรือ การร่ายรำ มาเป็นการทำขึ้น เพื่อเป็นของที่ระลึก ให้สอดรับกับตลาดในยุคปัจจุบัน ทั้งในส่วนของรูปแบบที่สวยงามแปลกตา ราคาที่ถูก พบว่า ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จนไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทันต่อความต้องการของประชาชนและนักท่องเที่ยว

นาง ราตรี หัสชัย อดีตครูโรงเรียนวัดไทรทอง ประธาน "บ้านมโนราห์" เล่าว่า เด็กๆ ที่เข้าร่วมโครงการ จะร้อยลูกปัดมโนราห์ ได้สวยงามเทียบเท่าผู้ใหญ่ บางคนก้าวไกลไปถึงขั้นร้อยออกมาเป็นเครื่องแต่งกายมโนราห์ ที่มีราคาสูงถึงหลักพันบาท แต่ที่ขายดีส่วนใหญ่จะเป็นพวงกุญแจ กำไล สร้อยข้อมือ สร้อยคอ เครื่องประดับ หรือ ของที่ระลึกต่างๆ  ส่วนราคาเฉลี่ยตั้งแต่ชิ้นละ 25 - 500 บาท  มี ทั้ง ลายโบราณ และ ลายประยุกต์ ซึ่งจะขายดีมากครั้งละไม่ต่ำกว่า 4,000 บาท เมื่อมีคณะดูงานจากสถานที่ต่างๆ เดินทางมาศึกษาดูงานที่ "บ้านมโนราห์" หรือ เที่ยวชม

ทั้งนี้ เด็กๆ ที่เข้าร่วมโครงการ จะมีเวลาว่าง เฉพาะช่วงเย็น ในวันปกติ หรือ วันหยุดเสาร์ - อาทิตย์ เท่านั้น และ ต้องใช้เวลาทำในแต่ละชิ้นไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมง จึงยังร้อยลูกปัดมโนราห์ ออกมาได้น้อย เฉลี่ยสัปดาห์ละ 50 ชิ้น เท่านั้น ในขณะที่ความต้องการมีสูง เนื่องจากเป็นสินค้าที่ทำด้วยมือ และ มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น

รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมเด็กๆ ให้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และ ช่วยสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นใต้  ล่าสุด มีห้างสรรพสินค้าติดต่อสั่งซื้อสินค้าแล้วจำนวนมาก แต่ยังไม่สามารถผลิตให้ได้

ชาวบ้าน จ.ตรัง ร้อยลูกปัดมโนราห์ สร้างภูมิปัญญาท้องถิ่น