นิด้าโพล เผยผลสำรวจอาชีพในฝันที่เด็กไทย อยากทำมากสุด ในยุคไทยแลนด์ 4.0 คือ "อาชีพส่วนตัว และอาชีพอิสระ" ขณะที่ผู้ปกครอง อยากให้ลูกหลานรับราชการ
"นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "เด็กไทยในยุค ไทยแลนด์ 4.0" จากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,250 คน พบว่า อาชีพในฝันที่เด็กและเยาวชนอยากเป็น ในยุคไทยแลนด์ 4.0 / 5 อันดับแรก คือ ร้อยละ 20.62 อาชีพส่วนตัว / อิสระ ,
ร้อยละ 11.34 อาชีพครู / อาจารย์ , ร้อยละ 9.28 อาชีพแพทย์ / พยาบาล / รับราชการทหาร และวิศวกร / สถาปนิก / นักออกแบบดีไซน์ ในสัดส่วนที่เท่ากัน , ร้อยละ 7.22 อาชีพตำรวจ และนักธุรกิจในสัดส่วนที่เท่ากัน และ ร้อยละ 5.15 อาชีพรับราชการ (ไม่ระบุสาขา) / นักบัญชี / การเงิน / ธนาคาร / การตลาด ในสัดส่วนที่เท่ากัน
ส่วน ความคิดเห็นเกี่ยวกับอาชีพที่ผู้ปกครองอยากให้บุตรหลานเป็น ในยุคไทยแลนด์ 4.0 / 5 อันดับแรก พบว่า ร้อยละ 21.25 อาชีพรับราชการ (ไม่ระบุสาขา) , รองลงมา ร้อยละ 16.39 อาชีพแพทย์ / พยาบาล , ร้อยละ 11.36 อาชีพส่วนตัว / อิสระ , ร้อยละ 9.71 อาชีพครู / อาจารย์ และร้อยละ 6.42 อาชีพรับราชการทหาร
สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับความแตกต่างของเด็กในยุคนี้ เมื่อเทียบกับเด็กในสมัยก่อน พบว่า ร้อยละ 45.56 เด็กในยุคนี้ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับโทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ มากกว่าการออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านเหมือนเด็กสมัยก่อน รองลงมา
ร้อยละ 42.03 เด็กยุคนี้มีเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตมากว่าเด็กสมัยก่อน และร้อยละ 31.47 เด็กในยุคนี้ขาดการอดทน หรือรอคอย เพราะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย และรวดเร็วกว่าเด็กสมัยก่อน ขณะที่ ร้อยละ 29.62 เด็กในยุคนี้ขาดระเบียบวินัยมากกว่าเด็กสมัยก่อน
เมื่อถามถึงคุณสมบัติที่ดีของเด็กไทยในยุคไทยแลนด์ 4.0 พบว่า ร้อยละ 44.64 มีคุณธรรมจริยธรรม ช่วยเหลือสังคม ไม่เห็นแก่ตัว รองลงมา ร้อยละ 35.92 มีระเบียบวินัย เคารพกฏระเบียบ และ ร้อยละ 31.04 มีความอดทน อดกลั้น