คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ชวนประชาชนบริจาคตับ ระบุ "ตับงอกใหม่ได้" หลังตัดบริจาค และยังใช้ชีวิตได้ปกติ หลังเผยผลงานพัฒนาการปลูกถ่ายตับประสบความสำเร็จช่วยเหลือผู้ป่วยให้กลับมามีชีวิตยืนยาว
การพัฒนาการปลูกถ่ายตับ ในการรักษาผู้ป่วยโรคตับแข็งระยะสุดท้าย โรคตับวายเฉียบพลันรุนแรง และมะเร็งตับที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ ช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามีชีวิตยืนยาว เป็นผลงานของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์สัณหวิชญ์ จันทร์รังสี อาจารย์ประจำหน่วยศัลยกรรมระบบตับทางเดินน้ำดีและตับอ่อน ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ เปิดเผยว่า การปลูกถ่ายตับถือว่าเป็นทางเลือกสุดท้ายของการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะตับวาย ผู้ป่วยหลายรายรอดชีวิต และสามารถกลับมาใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัวได้อีกครั้ง
ทางคณะแพทยศาสตร์ มช. มีจำนวนการผ่าตัดมากถึง 15 ราย เป็นจำนวนการผ่าตัดปลูกถ่ายตับ มากที่สุดในประเทศไทย และผู้ป่วยมีอัตราการอยู่รอดหลังผ่าตัดเฉลี่ยในระยะ5 ปี กว่า80 % ซึ่งการผ่าตัดปลูกถ่ายตับ คือการผ่าตัดเอาตับเดิมออก แล้วทำการเปลี่ยนตับใหม่แทน โดยตับใหม่ได้มาจาก ได้รับบริจาคตับจากผู้ป่วยสมองตาย ซึ่งปัจจุบันอัตราผู้บริจาคมีน้อย ผู้ป่วยตับวายระยะสุดท้าย จึงเสียชีวิตระหว่างรอรับบริจาคเป็นจำนวนมาก
หรือ ได้รับบริจาคจากผู้บริจาคที่ยังมีชีวิต ซึ่งเป็นบุคคลในครอบครัวหรือญาติพี่น้อง ที่มีความสัมพันธ์กันทางสายเลือด หรือคู่สมรส จะช่วยให้ผู้รับบริจาคอวัยวะ สามารถได้ตับมาเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว ทาง คณะแพทย์ มช. จึงเชิญชวนประชาชนร่วมทำกุศลครั้งใหญ่ ในการบริจาคตับ พร้อมระบุว่า ตับเป็นอวัยวะที่งอกได้ หากตับถูกตัดจะค่อยๆงอกขึ้นเป็นปกติ