"นายไพบูลย์ นิติตะวัน" ตอบรับเข้าร่วมประชุมกับ สนช. เพื่อเสนอแนะเกี่ยวกับกฎหมายพรรคการเมือง แต่ "นายสุเทพ เทือกสุบรรณ" ไม่ขอเข้าชี้แจงข้อเสนอ เพราะติดภารกิจในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ด้าน "นายวิษณุ เครืองาม" ยืนยันคำสั่งมาตรา 44 ขยายเวลาพรรคการเมือง จะประกาศใช้ก่อน 5 มกราคม 2561

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ คสช. มีมติให้ใช้มาตรา 44 แก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง เพื่อขยายกรอบเวลาให้พรรคการเมือง ได้ดำเนินการต่างๆ ให้ทันตามกรอบเวลาว่า ยังระบุไม่ได้ว่า คำสั่งมาตรา 44 จะประกาศในช่วงใด แต่ยืนยันว่า จะประกาศคำสั่งออกมา ก่อนวันที่ 5 มกราคม 2561 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของกรอบเวลา 90 วัน ในการแจ้งสมาชิกภาพของสมาชิกพรรค

ส่วนความคืบหน้าการจัดทำกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น 6 ฉบับ โดยเฉพาะประเด็นที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องการให้แก้ไข 40 ประเด็นนั้น นายวิษณุ บอกว่า เมื่อวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา ได้หารือเรื่องดังกล่าวกับนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. แล้ว ซึ่งนายศุภชัย ระบุว่า คงแก้ไขไม่ถึง 40 ประเด็น คาดว่า จะพิจารณากฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น ในเดือนมกราคม 2561

ด้านนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่ 1 เปิดเผยว่า ในวันที่ 22 ธันวาคม เวลา 13.30 น. นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานเครือข่ายประชาชนปฏิรูป และ กกต. ได้ตอบรับเข้าร่วมประชุม เพื่อเสนอข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกฎหมายพรรคการเมือง คือ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานเครือข่ายประชาชนปฏิรูป

แต่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. ยังไม่ได้ตอบรับว่า จะมาเข้าร่วมประชุมหรือไม่ ซึ่งคณะกรรมาธิการพร้อมจะรับฟังเห็นรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองเล็ก หรือพรรคการเมืองใหญ่ เพื่อนำข้อสรุปทั้งหมดมาพิจารณาต่อไป

นายสุรชัย ยังกล่าวถึงการใช้มาตรา 44 แก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง เพื่อขยายเวลาให้พรรคการเมืองว่า หากจำเป็นจะต้องแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง / การเลือกตั้งจะต้องเป็นไปตามโรดแมป จะล่วงเลยจากเดือนพฤศจิกายน 2561 ไม่ได้ ซึ่งถ้าใช้มาตรา 44 แล้วคลี่คลายปัญหาได้ทั้งหมด / สนช.ก็คงไม่ต้องทำอะไร

ขณะที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน กล่าวว่า ในวันนี้ (21 ธ.ค.) จะส่งหนังสือข้อเสนอให้แก้ไขกฎหมายพรรคการเมืองต่อนายกรัฐมนตรี และนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.พิจารณา / ก่อนจะเข้าไปชี้แจงข้อเสนอต่อ สนช.ในวันที่ 22 ธันวาคมนี้

โดยหนังสือที่ส่งให้นายกรัฐมนตรี จะขอให้ คสช. รักษาความสงบเรียบร้อย ไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง และ กกต.รับรอง ผลการเลือกตั้ง ส่วนหนังสือที่จะส่งให้ประธาน สนช. คือ ให้ยกเว้นการบังคับใช้ระบบไพรมารีโหวตไว้ก่อนในการเลือกตั้งสมัยแรก เพราะเห็นว่า ขั้นตอนดังกล่าว ใช้เวลานานสร้างปัญหาต่อการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง

มีรายงานว่า นายสุเทพ แจ้งว่า ไม่สามารถเข้าชี้แจงข้อเสนอต่อคณะกรรมาธิการสามัญฯ ในวันที่ 22 ธันวาคมนี้ได้ เนื่องจากติดภารกิจในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี