กระแสวิพากย์วิจารณ์เรื่อง พ.ร.บ.หอพัก ที่ออกกฎหมายห้ามคนที่อายุเกิน 25 ปี เข้าพัก ทีมข่าวได้ลงพื้นที่ไปสอบถามผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการ ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้
จากกระแสวิพากย์วิจารณ์ถึงข้อกำหนด ตามพระราชบัญญัติ หอพัก พ.ศ.2558 ที่ระบุว่า ผู้ประกอบกิจการหอพักเอกชน ให้รับผู้พักได้เฉพาะ ผู้ที่อยู่ในระหว่างการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ไม่สูงกว่าปริญญาตรี และมีอายุไม่เกิน 25 ปี หรือพูดง่ายๆ ว่า ห้ามให้คนที่อายุเกิน 25 ปี หรือจบปริญญาตรีเข้าพักนั้น
ล่าสุดทีมข่าวจึงลงพื้นที่สอบถามความคิดเห็นผู้ประกอบการหอพัก โดยหลายคนมองว่า กฎหมายนี้ถือเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในกาทำมาหากิน เพราะผู้เช่าส่วนใหญ่มีทั้งนักศึกษาและคนทำงาน และอาจทำให้เดือดร้อนจากการที่ไม่มีลูกค้าเข้าพัก
เช่นเดียวกับผู้เช่าหอพักในการอยู่อาศัยที่ยอมรับว่า ข้อกำหนดดังกล่าวจำกัดสิทธิมาก เพราะส่วนใหญ่เมื่อเรียนจบก็อาจหางานทำใกล้ที่พักเพื่อประหยัดเงิน และมองว่า ควรแก้ข้อกำหนดโดยปรับปรุงเรื่องอื่นมากกว่า
ก่อนหน้านี้นางคนึงจันทร์ หิรัญญลาวัลย์ นายกสมาคมผู้ประกอบกิจการหอพัก และคณะพร้อมด้วยนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และตัวแทนนักศึกษา ได้เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้พิจารณาและเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า กรณีพระราชบัญญัติหอพักดังกล่าว ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญหลายมาตราและ สร้างความเดือดร้อนให้ทั้งเจ้าของหอพักและประชาชนที่ใช้บริการ
โดยเฉพาะหอพักที่ลงทะเบียนถูกกฎหมาย หากหอพักใดรับผู้พักที่ศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี และอายุเกิน 25 ปี จะมีโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท ทำให้เสียรายได้ ถือเป็นกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 40 ที่ได้รับรองเสรีภาพในการประกอบอาชีพไว้ว่าการจะจัดระเบียบต้องทำเท่าที่จำเป็น แต่กรณีนี้ถือเป็นการทำเกินกว่าเหตุ และยังขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 26 เพราะเป็นการจำกัดสิทธิที่เกินสมควรแก่เหตุ และเป็นการร่างกฎหมายโดยไม่ฟังความเห็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทำให้หลายหอพักเลือกที่จะไม่ต่อทะเบียน และอาจทำให้มีหอพักเถื่อนมากขึ้น ซึ่งอาจจะเกิดปัญหาเรื่องอื่นได้