ลงใต้กันบ้าง ที่สุราษฎร์ธานี มีอาชีพหนึ่งที่อยากจะชวนกันให้ช่วยอนุรักษ์ เพราะไม่มีคนรุ่นใหม่เข้าไปสืบทอดแล้ว นั่นคือ งานขายงานแกะหนังตะลุง
วันนี้ พาไปรู้จักกับ นายยุทธยา ศรีวิโรจน์ อายุ 63 ปี อดีตข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์ จะใช้เวลาที่มีในการแกะสลักหนังตะลุง ภายในบ้านของตนเองที่ ต.มะขามเตี้ย อ.เมือง จ.สุราษฎร์ฯ ยึดเป็นอาชีพเสริมยาวนานถึง 35 ปี
นายยุทธยา เล่าว่า ตนเป็นลูกของนายหนัง “บุญยังศรีวิโรจน์” ที่เป็นคณะหนังตะลุงชื่อดังรายหนึ่งของจังหวัดสุราษฎร์ฯเมื่อ 40 ปีก่อน จนเมื่อพ่อของตนเสียชีวิตลงประมาณ พ.ศ. 2525 จึงเริ่มที่จะสนใจงานแกะสลักหนังตะลุง และยึดเป็นอาชีพอย่างจริงจัง แต่ก็ไม่ได้วิชางานแสดงหนังตะลุงมาเลยจึงไม่ได้สืบทอดคณะหนังตะลุง ในปัจจุบันนายยุทธยา สามารถสร้างสรรค์งานศิลปะหนังตะลุงได้กว่า 400 รูปต่อปี ซึ่งนอกจากจะมีงานแกะหนังตะลุงเพื่อการแสดงแล้ว ยังเริ่มมีงานแกะหนังตะลุงสำหรับเป็นของฝากให้บุคคลทั่วไปด้วย ซึ่งมีลวดลายและรูปแบบจากหนังตะลุงที่ใช้ในการแสดงทั่วไปตามความต้องการของผู้สั่งทำบวกกับจินตนาการของนายยุทธยา เช่น ซุปเปอร์แมน ถือว่างานแกะหนังตะลุงยังเป็นที่ต้องการของคณะหนังตะลุงในจังหวัดสุราษฎร์ฯที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 70 คณะ และเริ่มขยายไปสู่การใช้เป็นของฝากประจำถิ่นใต้ แต่ในจังหวัดสุราษฎร์ฯ มีช่างแกะหนังตะลุงและผู้สืบทอดไม่ถึง 10 ราย ซึ่งปัจจุบันนายยุทธยา ก็ยังไม่มีผู้สืบทอดงานหนังตะลุงของตนเอง ซึ่งก็เป็นห่วงว่าช่างแกะหนังตะลุงของจังหวัดสุราษฎร์ฯจะหายไป
ทางด้านมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยสำนักศิลปะและวัฒนธรรม ที่ได้เห็นความสำคัญในการแกะหนังตะลุง ก็ได้มีการเปิดสอนการเล่นหนังตะลุงให้กับนักศึกษาภายในสถาบัน ซึ่งก็สร้างนายหนังตะลุงรุ่นใหม่ได้เป็นจำนวนมาก รวมถึงการแกะหนังตะลุงก็เป็นส่วนหนึ่งในการสอน หาช่างแกะหนังรุ่นใหม่ เนื่องจากมองว่าศิลปะแขนงนี้นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรมแล้ว ยังสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจได้อีกด้วย แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีน้อยคนที่จะสนใจทำงานแกะหนังตะลุงอย่างจริงจัง