รองปลัดสาธารณสุข ยืนยันดูแลผู้ป่วยในศูนย์พักพิงครบทุกมิติ ขอให้มั่นใจทุกพื้นที่ยังมีความปลอดภัย หากเสี่ยงจะปิดให้บริการทันที

วันนี้ (27 ก.ค.68) ที่โรงพยาบาลสุรินทร์ นพ.ภูวเดช สุระโคตร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยถึงกระบวนการและขั้นตอนในการรองรับของโรงพยาบาลในพื้นที่แนวปะทะ ว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญในเรื่องการเตรียมความพร้อมให้บริการทั้งในโรงพยาบาลและศูนย์ส่งต่อ รวมถึงในศูนย์อพยพหรือศูนย์พักพิง ได้เตรียมการไว้แล้ว ในการให้บริการกระทรวงสาธารณสุขประชุมร่วมกับฝ่ายความมั่นคง ในพื้นที่ที่ไม่มีความเสี่ยงจะเปิดให้บริการครบถ้วนทุกส่วน แต่ถ้าพื้นที่ที่มีความเสี่ยงหรือเสี่ยงมากขึ้นจะลดการบริการลง และจะย้ายผู้ป่วยที่เคลื่อนย้ายยากไปอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัย สำหรับพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจะลดบริการลงเปิดเฉพาะส่วนฉุกเฉิน แต่ถ้ามีความเสี่ยงมากจะปิดบริการ ให้หน่วยงานพื้นที่ชั้นในเป็นหน่วยรับส่งต่อ

อีกทั้งมีหน่วยงานภายนอกมาร่วมดูแลด้วย อาทิ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ มูลนิธิจุฬาภรณ์ ที่สนับสนุนบุคลากร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะส่วนการบาดเจ็บที่รุนแรงในหลอดเลือด ส่วนกรมการแพทย์สนับสนุนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือมาสนับสนุนการทำงาน ส่วนการดำเนินงานในพื้นที่มีการจัดเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลในศูนย์อพยพหรือศูนย์พักพิง ดูแลเรื่องอาหาร สุขาภิบาล นมเด็ก แพมเพิส ส่วนผู้สูงอายุที่มีภาวะเจ็บป่วยก็จะมีการแยกออกมา รวมทั้งผู้ที่มีภาวะเปราะบางติดเตียงด้วย กรมสุขภาพจิตจะประเมินตั้งแต่แรก ใครมีสภาวะที่ต้องทำการรักษาหรือฟื้นฟูก็จะมีการให้บริการ

ส่วนโรคระบาดที่อยู่ในศูนย์พักพิงจะมีการแยกออกมารักษาอย่างไร นพ.ภูวเดช เผยว่า กรมควบคุมโรคจะเข้ามาดูแลคัดกรองตั้งแต่แรก มาที่พักพิงจะถูกคัดกรองว่ามีการติดเชื้อหรือติดโรคติดต่อ หากมีความเสี่ยงก็จะแยกออกมาทำการรักษาและมีการสอบสวนโรค และมีการเฝ้าระวัง ส่วนของกลุ่มที่มีความจำเป็นต้องรักษาต่อที่เป็นโรคไตวาย ที่ต้องการฟอกไต มีทั้งเครื่องมือและบุคลากร และรถฟอกไตเคลื่อนที่ ประชาชนที่ต้องรับยาต่อเนื่องก็มีหน่วยบริการหลักให้ยาครบตามจำนวนที่ควรจะได้

เมื่อถามว่า ได้มีการขอกำลังจากพื้นที่ใกล้เคียงบ้างหรือไม่ นพ.ภูวเดช กล่าวว่า ศูนย์อพยพแต่ละจังหวัดยังใช้บุคลากรที่อยู่ภายในจังหวัด มีการบริหารงานการแพทย์เป็นเขตสุขภาพ
ซึ่งแต่ละเขตจะมีการดูแลและส่งอัตราสำรอง ซึ่งได้มีการเตรียมการไว้แล้วหากมีการขยายแนวเขตในพื้นที่เสี่ยง หรือระยะเวลานานขึ้น ได้เตรียมบุคลากรทางการแพทย์จากจังหวัดข้างเคียงที่ไม่มีเหตุการณ์ที่จะเข้ามาเสริม รวมทั้งผู้ป่วยภาวะเครียด มีการพิจารณาให้ยา โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่ได้รับการสูญเสียหรือบาดเจ็บ กลุ่มเปราะบางหรือมีภาวะทางจิตใจ ก็จะมีการเฝ้าระวัง

สำหรับตัวเลขผู้ที่เข้ามารักษาหลังจากเกิดเหตุการณ์นั้น ตั้งแต่วันแรกมีทั้งประชาชนและทหารที่ได้รับบาดเจ็บทั้งหมดเข้ามาอยู่ในการดูแลของโรงพยาบาล ระยะหลังจะเป็นส่วนของประชาชน อยู่ในสถานะที่เรารับไหวและมีการดูแลอย่างมีคุณภาพ ทุกคนมีความปลอดภัยในพื้นที่