ศรีสุวรรณ จรรยา บุก ป.ป.ช. ร้องสอบเอาผิดผู้บริหาร สตง. ทั้งหมด หลังเกิดเหตุอาคารสำนักงานแห่งใหม่ 30 ชั้นถล่ม ย่านจตุจักร ทำให้มีคนเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก พร้อมสร้างความเสียหายทั้งเศรษฐกิจ ภาพลักษณ์ของประเทศอย่างมหาศาล

วันที่ 2 พ.ค. 2568 มีรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ผ่านมา ที่สำนักงาน ป.ป.ช. นนทบุรี นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ใช้อำนาจตามมาตรา 234 (1) ประกอบมาตรา 28(1) แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 เพื่อไต่สวนและมีความเห็นต่อผู้บริหารของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ว่าเข้าข่ายหรือมีการกระทำอันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายของ ป.ป.ช. และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ รวมทั้งฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่ด้วย


ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศเมียนมา ส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา สร้างความตื่นตระหนกแก่ประชาชนหลายจังหวัด รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่ได้รับแรงสั่นสะเทือนด้วย ส่งผลให้อาคารสำนักงานแห่งใหม่ของ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ย่านจตุจักร ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างเกิดวิบัติพังถล่ม เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตจำนวนมาก สร้างความเสียหายทั้งเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศอย่างมหาศาล




แต่ตลอดระยะเวลากว่า 1 เดือนที่เกิดเหตุ มีกระแสของผู้คนจำนวนมากตั้งคำถามว่ามีตึก สตง. ที่กำลังก่อสร้างถล่มลงมาเพียงตึกเดียวนั้น ใครจะต้องรับผิดชอบ ทั้งผู้รับเหมาและบริษัทก่อสร้างที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้บริหารที่เกี่ยวข้องใน สตง. ในฐานะผู้ว่าจ้างและคู่สัญญา ทั้งผู้ที่ลงนามว่าจ้าง ผู้ออกแบบ ผู้ให้บริการควบคุมงาน ผู้ตรวจรับงาน ฯลฯ ซึ่งมีข้อผิดปกติหลายประการ อาทิ การแก้ไขแบบกว่า 9 ครั้ง การมีนอมินีและฮั้วประมูล ผู้รับจ้างก่อสร้างมีประวัติด่างพร้อย มาตรฐานวัสดุอุปกรณ์และแบบก่อสร้าง การออกแบบหรูหราฟุ่มเฟือย-ราคาแพงเกินสมควร การปลอมแปลงเอกสาร ลายมือลงนามวิศวกร การปกปิดข้อมูล และการขาดความมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคม ซึ่งบางเรื่องอาจเป็นการขัดต่อ พ.ร.บ.จัดซ้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 ฯลฯ


ทั้งนี้ ผู้บริหาร สตง. ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องจะลอยตัวอยู่เหนือปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะเป็นผู้ที่ใช้อำนาจในการดำเนินการก่อสร้างตึกดังกล่าวมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่การเลือกสถานที่ตั้ง การออกแบบอาคารและครุภัณฑ์ พัสดุภัณฑ์ การเขียนทีโออาร์ (TOR) การประมูล การคัดเลือกคู่สัญญา การลงนามในสัญญา การควบคุมงานให้เป็นไปตามสัญญา การตรวจรับงานก่อสร้างในทุกขั้นตอน ซึ่งถ้าผู้ที่รับผิดชอบตามกฎหมายในทุกขั้นตอนใช้ความรู้ ความสามารถที่แท้จริงตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ เหตุการณ์อันเป็นโศกนาฏกรรมคงจะไม่เกิดขึ้น และเมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องมีผู้ที่ต้องรับผิดชอบ


ผู้บริหาร สตง. ทุกคนถือว่าเป็น “เจ้าพนักงานของรัฐ” ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 ย่อมต้องถูกไต่สวน ตรวจสอบจาก ป.ป.ช. ได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ หากมีพฤติกรรมหรือการกระทำที่อาจเข้าข่ายการทุจริตและหรือฝ่าฝืนกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่กว่า 1 เดือนที่ผ่านมาประชาชนยังไม่พบว่า ป.ป.ช. จะเข้าไปดำเนินการไต่สวนสอบสวนเรื่องนี้แต่อย่างใด องค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน จึงไม่อาจทนเห็นการนิ่งเฉยของหน่วยงานตรวจสอบนี้ได้ จึงนำความมายื่นร้องให้ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนสอบสวนผู้บริหาร สตง. ตั้งแต่ในอดีตมาจนถึงปัจจุบันและบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่ตามครรลองของกฎหมาย จนถึงที่สุด