"ข่าวช่อง 8" สัมภาษณ์ "ดร.สนธิ คชวัฒน์" ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย กรณีน้ำมันดิบรั่วไหลลงทะเลใกล้เกาะสีชัง ขอให้ระบุปริมาณที่ชัดเจน พร้อมข้อเสนอแนะ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

ยังป็นสถานการณ์ที่ต้องเฝ้าจับตา จากกรณีน้ำมันดิบชนิด ARUB Light Crude ของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) รั่วไหลบริเวณทุ่นรับน้ำมันทางตอนใต้ของเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2566 เวลา 21.00 น. โดยกรมควบคุมมลพิษระบุว่า มีปริมาณน้ำมันรั่วไหล 45,000 – 70,000 ลิตร

 

โดย “ดร.สนธิ คชวัฒน์” ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ได้ให้สัมภาษณ์กับ “ข่าวช่อง 8” เรียกร้องให้มีการเปิดเผยปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลที่ชัดเจน และแสดงความคิดเห็น พร้อมข้อเสนอแนะต่างๆ ดังต่อไปนี้

 

  1. เรียกร้องให้ เปิดเผยปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลอย่างชัดเจน

 

“เมื่อคืนนี้เขาอ้างว่า ปิดวาล์วปิดเรียบร้อยแล้ว แต่น้ำมันไหลไปตามทะเล มีรัศมี 5 กิโลเมตร เขาบอกว่า ใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมัน Dispersant จำนวน 6 พันลิตร น้ำมันที่รั่วออกมาก็คือ 10 เท่า หรือประมาณ 6 หมื่น  – 7 หมื่นลิตร

 

“ซึ่งถ้ามีจำนวนเท่านี้จริงๆ ก็ถือว่าไม่มากเท่าไหร่ สามารถจัดการได้ แต่ที่ผมกังวลก็คือมันจะมากกว่านี้หรือเปล่า ซึ่งตัวเลขที่จริงแท้ๆ มันยังไม่ค่อยชัดเจน”

 

“สิ่งที่เรากังวลคือปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลเท่าไหร่กันแน่ ? เขาก็ไม่แถลงออกมาให้ชัด แต่จริงๆ แล้วเขาสามารถเช็กได้ว่าน้ำมันไหลลงทะเลเท่าไหร่ หลังจากปิดวาล์วไปแล้ว สามารถคำนวณได้ครับ แต่ก็ไม่ยอมบอก ถึงวันนี้ก็ไม่ยอมบอก บอกเป็นตัวเลขคาดการณ์ 4 - 7 หมื่นลิตร ซึ่งมันจริงหรือเปล่า ? อันนี้ก็ต้องลองดูต่อไป”

 

  1. กังวลเรื่องการใช้สารเคมีใกล้ชายฝั่ง

 

“ตอนนี้เขาใช้สารเคมี Dispersant เพื่อลดพื้นผิวน้ำมันบนทะเล ซึ่งมันทำให้น้ำมันแตกตัวเป็นเม็ดเล็กๆ สิ่งที่น่ากังวลคือ ถ้าไปใช้ใกล้ชายฝั่ง ระยะไม่เกิน 5 กิโลเมตร แบคทีเรียก็จะย่อยสลายไม่ทัน หลายวันต่อมามันก็จะพัดเข้าฝั่งเป็นเม็ดน้ำมันเหนียว อันนี้คือสิ่งที่เรากลัว

 

“ไม่อยากให้ใช้ Dispersant กำจัดคราบน้ำมัน ถ้ามันใกล้ฝั่ง 5 กิโลเมตร โดยคาดว่าอาจจะเข้าแถวบางแสน หรือหาดวอนนภา ตรงนี้คือต้องเฝ้าระวัง ควรจะมีบูม หรือสกิลเมอร์ไว้ล้อมรอบ ดูดซับน้ำมันให้หมดก่อน ก็ต้องเฝ้าระวังให้ดี”

 

“รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม เขาระบุไว้ชัดเลยโครงการนี้ เขาระบุว่าขณะที่ขนน้ำมันคุณจะต้องมีเครื่องมือในการดูแล จะต้องมีการวัดความดันในท่อ ก่อนที่จะเอาท่อจากเรือต่อเข้ากับท่อใต้ทะเล เพื่อที่จะเข้าไปที่โรงกลั่น และต้องมีนักประดาน้ำลงไปดูด้วยว่ามีการรั่วผิดพลาดหรือเปล่า ซึ่งตรงนี้ เราก็สงสัยว่า ได้ทำหรือไม่

 

“ซึ่งถ้าเทียบกับกรณีที่มาบตาพุด จ.ระยอง ตอนนั้นน้ำมันรั่วไหลลงทะเลค่อนข้างมาก คือ  5 – 6 แสนลิตร รุนแรงมากกว่าครั้งนี้เยอะ แล้วก็พัดเข้าหาดแม่รำพึง ซึ่งป็นสถานที่ท่องเที่ยว”

 

  1. ข้อเสนอแนะ กรณีน้ำมันรั่วไหลลงทะเล ซ้ำซาก

 

“เรื่องการขนส่งน้ำมัน การที่ดูแลในทะเล มันมีหน่วยงานที่ดูแลอยู่ คือกรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมควบคุมมลพิษ

 

“ผมมองว่าจะต้องไปเข้มงวดการใช้กฎหมายให้ปฏิบัติตามรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม นั่นคือประเด็นแรก ประเด็นที่ 2 ก็คือว่า ถ้าเกิดขึ้นมาแล้ว ก็ต้องลงโทษอย่างจริงจัง ไม่เพียงแค่ไปชดเชยค่าเสียหายต่างๆ เท่านั้น ต้องมีการดำเนินคดีให้จริงจัง และทางกรมควบคุมมลพิษจะต้องใช้มาตรการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลายด้วย อย่างนี้ต้องจริงจัง