วันนี้  (5 ก.ย.) ที่ ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลได้นัดฟังคำสั่งในคดี "หมิ่นประมาท" ระหว่าง นางสรารัตน์ หรือ "แอมไซยาไนด์" โจทก์ นายรพี ผู้ประสานคดีแอมไซยาไนด์ จำเลย ล่าสุดศาลมีคำสั่ง "ยกคำร้อง"

 

โดย นางสาวอำนวยพร มณีวรรณ์ หรือ ทนายกุ้ง เปิดเผยว่าวันนี้ศาลได้นัดฟังคำสั่งว่าจะประทับรับฟ้องคดีนี้หรือไม่ โดยก่อนหน้านี้ได้มีการไต่สวนไปแล้ว 2 นัด โดยนางสรารัตน์ ได้ฟ้องนายรพี ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา กรณีที่ไปให้สัมภาษณ์ในรายการโทรทัศน์รายการหนึ่ง โดยใช้คำพูดว่า “โกหกเจ้าหน้าที่จนหัวปั่นและหลอกตำรวจ” ซึ่งเป็นการพูดตามข้อเท็จจริง ซึ่งในวันนี้นายรับพีไม่ได้มาร่วมฟังคำสั่งเนื่องจากติดภารกิจอยู่ต่างจังหวัด

 

ด้านนางสาว ธันย์นิชา เอกสุวรรณวัฒน์ หรือ ทนายพัช ทนายความของ นางสรารัตน์ เปิดเผยก่อนเข้าห้องพิจารณาว่า หากคดีนี้ศาลมีคำสั่งว่าคดีไม่มีมูลตนก็จะอุทธรณ์ต่อไป แต่ถ้าศาลเห็นว่าคดีมีมูลและมีคำสั่งรับฟ้อง กรณีที่นายรพีไม่มาฟังคำสั่ง ตนเองก็จะส่งหมายศาลไปยังภูมิลำเนา

 

อย่างไรก็ตาม มีความมั่นใจในพยานหลักฐานที่จะเอาผิดกับนายรพีได้ ซึ่งนายรพีก็ยอมรับเองว่าบุคคบที่อยู่ในคลิปนั้นเป็นตนเองจริง ในชั้นนี้อยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาว่ามีองค์ประกอบความผิดหรือไม่ ส่วนการกระทำดังกล่าวจะเป็นความผิดหรือไม่นั้น ก็จะเป็นอีกชั้นหนึ่ง คือศาลต้องรับฟ้องก่อนเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาคดีต่อไป

 

หลังศาลมีคำสั่ง นางสาวอำนวยพร มณีวรรณ์ หรือ ทนายกุ้ง ทนายจำเลย เปิดเผยว่า ศาลได้มีคำสั่งยกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่านายรพีได้รับมอบอำนาจจากญาติผู้เสียหาย ซึ่งการให้สัมภาษณ์ผ่านรายการโทรทัศน์นั้นเป็นไปตามข้อเท็จจริงจากการสืบสวนของตำรวจ ซึ่งได้รับรายงานจากตำรวจชุดคลี่คลายคดี เป็นการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่รัฐด้วย จึงเป็นการให้สัมภาษณ์โดยสุจริต ซึ่งฝ่ายโจทก์มีสิทธิ์ที่จะยื่นอุทธรณ์ภายใน 1 เดือน หรืออาจจะขยายได้ครั้งละ 1 เดือน ซึ่งนายระพีเองก็รู้สึกดีใจที่ได้รับความยุติธรรมจากศาลในครั้งนี้

 

ด้าน  นางสาว ธันย์นิชา เอกสุวรรณวัฒน์ หรือ ทนายพัช ทนายความของ นางสรารัตน์ เปิดเผยว่า  หลังจากนี้ เตรียมยื่นอุทธรณ์คำสั่งภายใน 30 วัน   หลัง มีพยานหลักฐานใหม่ที่ยื่นต่อศาลไปแล้วเมื่อวานนี้  เป็น เอกสารเกี่ยวกับใบรับมอบอำนาจ มารดาของผู้เสียชีวิตให้กับนายรพี   ซึ่งพบความผิดปกติ    โดยในเอกสาร มอบอำนาจ ลงวันที่ 14 เมษายน 2566 แต่เอกสารสำเนาบัตร   ที่ใช้ยื่น ประกอบรับรองการมอบอำนาจ พบ  เป็นวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ซึ่งอาจเป็นการออกบัตรหลังจากที่มีการทำหนังสือมอบอำนาจ  ซึ่งเชื่อว่าจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงคำสั่งในชั้นอุทธรณ์ ต่อไป

 

ส่วนเรื่องคดีความ ของแอมไซยาไนด์ ที่ตำรวจอ้างว่าจะมีการสรุปสำนวน ฟ้องแอมรวมทั้งหมด 15 สำนวน ขณะนี้มีเพียงสำนวนเดียว ของนางสาวก้อย ที่ส่งมาถึงอัยการเท่านั้น  ฝากไปถึงพลตำรวจเอกสุรเชษฐ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่กำกับดูแลคดีดังกล่าว   ว่าความคืบหน้าในการทำสำนวนที่เหลือไปถึงไหนแล้ว  หากหากตำรวจไม่มีการฟ้องสำนวนที่เหลือตามที่มีการให้สัมภาษณ์กับสื่อไว้  เตรียมฟ้องกลับกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึงญาติผู้เสียชีวิตที่เหลือด้วย