"ค่าน้ำ" จ่อปรับขึ้นราคา หลังไม่ได้ขึ้นมา 23 ปีแล้ว จากผลกระทบค่าไฟฟ้าสูงขึ้น

วันที่ 24 เม.ย. 2566 นายมานิต ปานเอม ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กปน.ได้รับผลกระทบจากต้นทุนหลักการผลิตน้ำประปาเพิ่มขึ้นทุกอย่าง ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นมาก ประกอบด้วย

1. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรัฐบาลเรียกเก็บที่ราชพัสดุ กปน.ต้องเสีย 150 ล้านต่อปี จากเดิมไม่ต้องเสีย
2. ค่าน้ำดิบจ่ายให้กับกรมชลประทานวันละ 3 ล้านบาท
3. ค่าไฟเพิ่มขึ้น 20-30% หรือประมาณ 20 ล้านบาทต่อเดือน จากค่าเอฟทีของรอบเดือนมกราคม-เมษายน 2566 ปรับขึ้นกว่า 90 สตางค์
4. ค่าธรรมเนียมการวางท่อเป็น 100 ล้านบาทต่อปี

แม้ต้นทุนจะสูงขึ้น แต่ กปน.จะตรึงค่าน้ำไว้ให้นานที่สุด ตามนโยบายของรัฐบาลยังไม่ต้องการให้ขึ้นค่าน้ำ 

ขณะเดียวกันพยายามบริหารจัดการต้นทุนทุกด้านให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การใช้ไฟฟ้า โดยจ่ายน้ำตามความต้องการใช้ เป็นต้น 

ปัจจุบันกำลังพิจารณาอัตราค่าน้ำให้สอดรับต้นทุนเพิ่มขึ้น หลังไม่ได้ขึ้นค่าน้ำมา 23 ปี เพื่อบริหารสภาพคล่องด้านการเงิน เพราะใช้เงินลงทุนไป 42,000 ล้านบาท เพื่อขยายการผลิตในโครงการ 9 

ด้านนายมงคล วัลยะเสวี รองผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) กล่าวว่า ตอนนี้ กปภ.อยู่ระหว่างศึกษาโครงสร้างค่าน้ำใหม่ ตามต้นทุนเพิ่มขึ้น 15-20% ทั้งจากค่าไฟ ค่าสารเคมี เพื่อขอขึ้นค่าน้ำ หลังไม่ได้ขึ้นมากว่า 10 ปี อีก 2 เดือนจะแล้วเสร็จ จากนั้นเสนอให้รัฐบาลใหม่พิจารณาว่าจะให้ปรับขึ้นหรือไม่ หรือจะให้ดำเนินการอย่างไรต่อไป การปรับขึ้นค่าน้ำเคยขอกับกระทรวงมหาดไทยแล้วแต่ไม่ได้รับอนุมัติ และขอให้เราประหยัดค่าใช้จ่ายแทน

ทั้งนี้จากภาระค่าไฟฟ้าสูงขึ้นและค่าเอฟทียังอยู่ในอัตราสูง ส่งผลต่อธุรกิจทุกภาคส่วน บางส่วนได้ปรับตัวรับสถานการณ์ พร้อมกับมีข้อเสนอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้โอกาสนี้แก้ไขระยะสั้น และปรับปรุงเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำในอนาคต