สธ.ปรับเพิ่มค่าโอทีทุกวิชาชีพ 8% เฉพาะผลัดบ่าย/ดึกเพิ่ม 50% "พยาบาล" ได้เพิ่มจาก 600 บาทเป็น 650 บาท พยาบาลผลัดบ่าย/ดึก จาก 240 บาทเป็น 360 บาท แจงใช้งบเพิ่มปีละ 3 พันล้านบาท

เมื่อวันที่ 23 พ.ย. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงการปรับเพิ่มค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์ ว่า เราไม่ได้เน้นแค่พยาบาล แพทย์ หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นบุคลากรด้านสาธารณสุขที่ทุ่มเททำงานเสียสละ ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยมาตลอดหลายปี และค่าตอบแทนก็นิ่งอยู่กับเดิมมานานแล้ว ซึ่งปลัด สธ.บอกเป็นงบที่บริหารจัดการในกระทรวง เงินบำรุงต่างๆ ไม่ต้องของบกลาง ตนจึงบอกว่าก็ลุยเต็มสูบ เพราะเป็นประโยชน์ ถ้าทำให้เกิดขวัญกำลังใจ เกิดประสิทธิภาพงานที่ดีขึ้น รัฐมนตรีก็ต้องเห็นชอบตามปลัด สธ.เสนอด้วยความยินดีและเต็มใจ ย้ำว่าไม่ใช่ของขวัญปีใหม่ ตราบใดถึงเวลาอันควร และ สธ.สามารถบริหารงบประมาณได้โดยไม่มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานและให้บริการประชาชน

ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัด สธ. กล่าวว่า วันนี้มีการประชุมคณะกรรมการค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 1/2565 ซึ่งมีข้อเสนอปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าตอบแทนฯ ฉบับที่ 5 เนื่องจากบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้มีการเพิ่มค่าตอบแทนหรือปรับค่าตอบแทนตั้งแต่ ปี 2555 โดยมีข้อสรุปคือ 1.ปรับเพิ่มค่าตอบแทนเรียกว่าค่าโอที ลักษณะเป็นเวรหรือเป็นผลัดนอกเวลาราชการเพิ่มขึ้น 8% มีรายละเอียดดังนี้ แพทย์ จาก 1,100 บาท เป็น 1,200 บาท , ทันตแพทย์ จาก 1,100 บาท เป็น 1,200 บาท , เภสัชกร จาก 720 บาท เป็น 780 บาท , นักวิทยาศาสตร์ พยาบาลวิชาชีพ นักวิชาการทางด้านสาธารณสุข จาก 600 บาทเป็น 650 บาท , พยาบาลเทคนิค เจ้าพนักงานสาธารณสุข เจ้าพนักงานเทคนิค จาก 480 บาท เป็น 520 บาท , เจ้าหน้าที่พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และเจ้าหน้าที่เทคนิค จาก 360 บาท เป็น 390 บาท , เจ้าหน้าที่อื่นๆ ตามวุฒิ จาก 360-600 บาท เป็นเพดานสูงสุด 650 บาท และลูกจ้างตำแหน่งอื่นๆ จาก 300 บาท เป็น 330 บาท

และ 2.ปรับเพิ่มค่าตอบแทนเวรบ่าย/ดึก เพิ่มขึ้น 50% โดยพยาบาลผลัดบ่าย/ดึกจาก 240 บาท เป็น 360 บาท , พยาบาลเทคนิคผลัดบ่าย/ดึก จาก 180 บาท เป็น 270 บาท และเจ้าหน้าที่พยาบาลผลัดบ่าย/ดึก จาก 145 บาท เป็น 255 บาท

"มีการพูดคุยถึงคำจำกัดความของนักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการด้านสาธารณสุข ซึ่งมอบคณะอนุกรรมการกลั่นกรองพิจารณาตามข้อระเบียบบังคับต่างๆ ว่า ครอบคลุมกลุ่มนักกายภาพ นักรังสีทางการแพทย์ นักอาชีวะบำบัด นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ แพทย์แผนไทย นักกายอุปกรณ์ นักโภชนาการ และนักเวชศาสตร์สื่อความหมาย ตามที่มีการร้องขอหรือไม่ เพื่อให้ดูแลครอบคลุมทุกวิชาชีพ ซึ่งตรงนี้น่าจะสรุปได้ภายใน 1-2 สัปดาห์หรือไม่เกิน 1 เดือน" นพ.ทวีศิลป์กล่าว

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า จากนั้นจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการเกี่ยวกับเงินบำรุงของกระทรวง ซึ่งมีรองปลัด สธ.อีกท่านดูแล ก็จะดูว่ามีความสมดุลหรือไม่ เป็นภาระเงินบำรุงไหม ซึ่งเบื้องต้น ผอ.กองเศรษฐ กิจและสุขภาพ รายงานว่าเรามีเงินบำรุงในภาวะพอจ่ายได้ ไม่น่าเกิน 3 พันล้านบาทต่อปี เมื่อเทียบเคียงเงินบำรุงสถานะที่มีอยู่ตอนนี้น่าจะอยู่ในกำลังที่ดำเนินการได้ จากนั้นจะหารือไปที่กรมบัญชีกลาง ซึ่งเราพยายามทำให้เร็วสุด ทั้งนี้ การจ่ายค่าตอบแทนทั้ง 2 ตัวนี้ใช้เงินบำรุงมาโดยตลอด ที่ผ่านมาไม่มีประเด็นอะไรยังใช้เงินบำรุงจ่ายได้ ส่วนที่ถามว่าการเพิ่มจะเป็นภาระไหม อย่าง 8% หลาย 10 ปีแล้วค่อยมาเพิ่ม เราก็ใช้เกณฑ์เมื่อเทียบกับค่าเงินบาทที่เพิ่มขึ้นด้วย ส่วนอนาคตข้างหน้ากระทบไหม กองเศรษฐกิจและสุขภาพดูแล้วไม่กระทบมากนัก อยู่ในวิสัยที่จะหาและชัดเชยในอนาคตได้ เพราะมีการพยากรณ์รายรับไปข้างหน้าโดยใช้ฐานของปี 2561-2565 ก็ยังไปได้

ถามว่าเรามีเงินบำรุงมากขึ้น สภาพคล่องมากขึ้นจากสถานการณ์โควิด หลังหักหลบหนี้เหลือเท่าไรในการเอามาใช้ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า จากที่บอกว่ารายรับแสนกว่าล้านบาท ยังไม่ได้หักค่าหยูกยา เอทีเค ค่าอุปกรณ์ต่างๆ เมื่อหลักลบกลบหนี้ก็เหลือประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาทที่มีอยู่ ก็ไม่ถือว่าเยอะหรือน้อย แต่ก็พอมี ก็รีบเอามาเพิ่มเติมให้แก่ผู้ทำงาน นอกจากนี้ ยังสามารถปรับเกลี่ยในระดับเขตสุขภาพได้ในการช่วยเหลือ

ถามว่าระเบียบบังคับหรือไม่ว่า รพ.ทุกแห่งจะต้องค่าตอบแทนอัตรา 8% และ 50% หรือต้องดูสถานะการเงิน รพ. นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ตรงนี้เป้นเกณฑ์ล่างสุดว่าอย่างน้อยทุกคนต้องได้เท่านี้ แต่มีระเบียบของบางจังหวัดบางพื้นที่ที่มีงานเยอะ เป็นอำนาจจังหวัดเพิ่มขึ้นได้ไปอีก เช่นเพิ่มขึ้นเท่าตัว ระดับเขตเพิ่ม 2 เท่าตัว ถ้าพิสูจน์ได้ว่าทำงานหนักจริง คนไม่เพียงพอ ควงเวรจนเติมคนไม่ได้ เป็นอำนาจผู้บริหารในจังหวัดปรับเพิ่มให้