GISTDA เผย ภาคเหนือยังคงพบจุดความร้อนสูง ส่วนค่าฝุ่น pm 2.5 ดีขึ้น อยู่ในระดับดี-ปานกลาง ทั้งนี้ ไทยกำลังจะได้ใช้ระบบ THEOS-2 อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อติดตาม-จัดการกับภัยพิบัติได้อย่างทันท่วงที

 

วันที่ 18 เมษายน 2565 GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของระบบเวียร์ (VIIRS) เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2565 พบจุดความร้อนทั้งประเทศ 420 จุด พบมากที่สุดในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 180 จุด พื้นที่เกษตร 112 จุด พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 71 จุด พื้นที่ชุมชน และอื่น ๆ 32 จุด พื้นที่เขตสปก. 22 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 3 จุด ส่วนจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุดคือ แม่ฮ่องสอน 66 จุด เชียงใหม่ 40 จุด และแพร่ 37 จุด ตามลำดับ จากภาพแสดงให้เห็นจุดความร้อนที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคกลางเหมือนหลายวันที่ผ่านมา ส่วนพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือวานนี้ (17 เม.ย. 65) พบจุดความร้อนเล็กน้อย เนื่องจากมีฝนตกจากพายุฝนฟ้าคะนอง ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูลจุดความร้อนตั้งแต่ 1 มกราคม – 17 เมษายน 2565 พบว่า ภาคเหนือมีจุดความร้อนแล้ว 14,606 จุด ตามด้วยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12,940 จุด และภาคกลาง 9,075 จุด ตามลำดับ

ส่วนเช้านี้ (18 เม.ย. 65) เวลา 09.00 น. อากาศกลับมาดีอีกครั้ง หลายจังหวัดทั่วประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (pm2.5) อยู่ในระดับดี (สีเขียว) มีเพียง 4 จังหวัดภาคเหนือที่พบค่าฝุ่นจิ๋วอยู่ในระดับปานกลาง ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก และลำพูน

สำหรับจุดความร้อนของประเทศเพื่อนบ้าน อันดับหนึ่งคือ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ จำนวน 1,544 จุด รองลงมาอันดับ 2 เป็นประเทศไทย จำนวน 420 จุด และอันดับ 3 เป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จำนวน 326 จุด ตามลำดับ ข้อมูลจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศ pm 2.5 ในพื้นที่บริเวณชายแดนภาคเหนือเนื่องจากมีลมพัดฝุ่นละออง และหมอกควันเข้ามา ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ดูแลสุขภาพและสวมใส่หน้ากากอนามัยกันด้วยนะครับ

ปัญหาไฟป่า และหมอกควัน ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงให้กับระบบต่าง ๆ ของประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยกำลังจะได้ใช้ระบบ THEOS-2 อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่ง 1 ในภารกิจสำคัญของระบบนี้ คือการสำรวจ วิเคราะห์ และติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที และแม่นยำ เพื่อการสนับสนุนข้อมูลสำคัญให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลไปใช้วางแผน ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดข้อมูลเฉพาะพื้นที่ ท่านสามารถติดตามจากหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบโดยตรงได้ ด้าน GISTDA ยังคงติดตาม และรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้บริหารจัดการในพื้นที่ ท่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์GISTDA