วิธีเอาตัวรอด จากการจมน้ำ หรือพลัดตกเรือ ต้องทำอย่างไร?

 

อุบัติเหตุเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่ถ้าเราเรียนรู้วิธีเอาตัวรอดจากสถานการณ์ต่าง ๆ ไว้บ้าง ก็จะช่วยให้เกิดความเสียหายน้อยลง และยังสามารถช่วยเหลือตัวเองหรือคนอื่นจากภัยพิบัติต่าง ๆ ได้ อย่างเช่นกรณีเดินทางไปท่องเที่ยวทางเรือที่อาจมีความเสี่ยงต่อการจมน้ำหรือเหตุเรือล่ม สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการทางทะเล จึงได้แนะนำวิธีป้องกันและเอาตัวรอดดังนี้

1. ควรเรียนรู้วิธีในการเอาตัวรอดจากการจมน้ำ ทั้งการเรียนรู้หลักในการว่ายน้ำและทักษะในการเอาชีวิตรอดในน้ำ
2. รู้จักวิธีการลอยตัวอยู่ในน้ำ เช่น การฝึกลอยตัวแบบนอนหงาย ขาแขนเหยียดตรงเหมือนนอนอยู่บนที่นอน เงยหน้ายกคางเพื่อใช้ปากหายใจ ที่สำคัญคือต้องมีสติไม่ตกใจ
3. เมื่อไปเที่ยวทะเล ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่มีน้ำหนักเบา ไม่ดูดซับน้ำมาก เช่น กางเกงขาสั้น แต่ไม่ควรใส่ยีน และอาจใส่เสื้อผ้าสีสด ๆ เพื่อให้คนมองเห็นได้จากระยะไกล
4. สวมใส่เสื้อชูชีพ รัดตัวล็อกทุกจุดเพื่อไม่ให้เสื้อชูชีพหลุดได้ ตรวจสภาพชูชีพว่าพร้อมใช้งานหรือไม่ มีนกหวีดหรือไม่ หากมีเด็กควรเตรียมชูชีพเด็กไปเอง อย่างไรก็ตาม เสื้อชูชีพที่ใช้ตามเรือท่องเที่ยว ส่วนใหญ่ยังเป็นแบบเสื้อพยุงตัว ไม่ใช่เสื้อชูชีพแท้ที่ออกแบบไว้ให้นอนหงายตลอดเวลา โดยเสื้อชูชีพจะสามารถพยุงตัวผู้ประสบเหตุได้ 3-6 ชั่วโมง แต่หากเป็นเสื้อชูชีพคุณภาพดีจะสามารถลอยตัวได้นานเป็นวัน
5. ดูทางหนีทีไล่ของเรือว่าทางออกอยู่ตรงไหน พยายามเลือกที่นั่งที่ไปยังที่เปิดโล่งได้ง่ายที่สุด เช่น บริเวณข้างเรือที่โล่ง ๆ อย่าอยู่ในที่อับ หรือมีสิ่งกีดขวางทำให้ออกจากเรือไม่ได้
6. หาของที่ลอยน้ำได้มาไว้ใกล้ตัว เช่น ขวดน้ำ


ข้อควรรู้การใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือคนตกน้ำ
1. โยนอุปกรณ์ที่ไม่มีเชือกผูก
เช่น ขวดน้ำพลาสติก ถังแกลลอน
ㆍ โยนอุปกรณ์หลายๆ ใบ
ㆍโยนอุปกรณ์ให้ตกตรงหน้าผู้ประสบภัย
ㆍการใส่น้ำเล็กน้อยในอุปกรณ์ จะทำให้อุปกรณ์มีน้ำหนักสามารถโยนได้แม่นยำมากขึ้น
2. โยนอุปกรณ์ที่มีเชือกผูก เช่น ถังแกลลอนผูกเชือก ถุงเชือก
ㆍโยนอุปกรณ์ให้ข้ามศีรษะผู้ประสบภัยเพื่อให้เชือกตกลงไปกระทบตัวผู้ประสบภัย
ㆍ เชือกที่ใช้ต้องมีความอ่อนตัว ไม่บิดเป็นเกลียว
3. ยื่นอุปกรณ์ เช่น ไม้
ㆍย่อตัวลงต่ำ เพื่อไม่ให้ถูกผู้ประสบภัยดึงตกน้ำ ยื่นอุปกรณ์ไปด้านข้างของผู้ประสบภัย แล้วจึงวาดอุปกรณ์เข้าไปหาตัวผู้ประสบภัย (เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้อุปกรณ์โดนหน้าผู้ประสบภัย)

 

อุปกรณ์ช่วยเหลือคนตกน้ำ
- ขวดน้ำพลาสติก
- ถังแกลลอนผูกเชือก
ขวดน้ำพลาสติก (หลีกเลี่ยงถังที่มีลักษณะทรงกลม เพราะจะทำให้ผู้ประสบภัยจับยาก)
- ถุงเชือก


การช่วยเหลือ
1. ตะโกน
ตะโกน..... "ช่วยด้วย มีคนตกน้ำ" (เพื่อขอความช่วยเหลือ)

2. โยน
โยน... อุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ ให้คนตกน้ำจับ เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่าห่วงชูชีพ

3. ยื่น
หรือยื่นอุปกรณ์ให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ เชือก เสื้อ กางเกง ผ้าขาวม้า เข็มขัด

4. สาวไม้ดึงคนตกน้ำเข้าหาฝั่ง

 

 

ในกรณีที่เราเห็นคนตกเรือ ตกน้ำ หรือจมน้ำ กำลังขอความช่วยเหลือ ให้รีบโยนสิ่งของที่สามารถเกาะเพื่อพยุงตัวได้ลงไปให้ เช่น เสื้อชูชีพ ห่วงยางชูชีพ ถังแกลลอน ฯลฯ พร้อมกับรีบโทรหาเบอร์ฉุกเฉิน : แจ้งอุบัติเหตุทางน้ำ 1196 หรือ หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน 1669

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ / กรมป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข