หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์ฯ ภูหลวง สั่ง จนท. เเจ้งความเอาผิด ชาวบ้านลอบวางกับดักตะปู ทำร้ายช้าง ชี้ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับสูงสุด 1 ล้าน

 

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 14 ม.ค.2565 เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ป่าภูหอ เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าภูหลวง อ.ภูเรือ จ.เลย นำกำลังออกตรวจและลาดตระเวน พื้นที่รอยต่อ อ.ภูเรือ-อ.ภูหลวง และพื้นที่ใกล้เคียงในบริเวณป่าภูหอ-ห้วยซำค้อ พื้นที่บ้านสวนปอ ต.แก่งศรีภูมิ อ.ภูหลวง จ.เลย พบกับดักทำด้วยไม้กลมลักษณะคล้ายเขียง บางอันก็เป็นไม้แผ่นสี่เหลี่ยม แต่ไม้ทุกรูปแบบทำการตีตะปูขนาดความยาว 3-5 นิ้ว โดยตีใส่ไม้จนทั่วพื้นที่หน้าตัดไม้ นำไปวางซ่อนพรางด้วยหญ้าแห้ง ไว้บริเวณขอบสระน้ำในบริเวณดังกล่าว เจ้าหน้าที่ทราบได้ทันทีว่าเป็นการวางกับดักเพื่อให้ช้างป่าเดินมาเหยียบ และเป็นการเจตนาล่าช้างป่า ชุดสายตรวจจึงได้เก็บกู้กับดักดังกล่าว นับได้จำนวน 70 อัน โดยได้ถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน จากนั้นได้ทำการสืบสวนจนทราบผู้ต้องสงสัย แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ และได้รวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อแจ้งความดำเนินคดี

จนมาวันนี้เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 22 ม.ค.65 นายวันชัย สิมมาเศียร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง มอบอำนาจให้นายเนียต บุตะทา พนักงานพิทักษ์ป่า ส.3 หน่วยพิทักษ์ป่าภูหอ อ.ภูหลวง จ.เลย เข้าแจ้งความต่อ พ.ต.ท.เฉลียวเดช วิริยะธนากุล สว.(สอบสวน) สภ.ภูหลวง จ.เลย แจ้งความกล่าวโทษผู้กระทำความผิด ซึ่งอยู่ระหว่างสอบสวนหาผู้กระทำความผิด

นายวันชัย เปิดเผยว่า กรณีดังกล่าวเจ้าหน้าที่ได้ออกลาดตระเวรตรวจพบกับดังช้างจำนวน 70 อัน บริเวณทางเดินขึ้นลง และภายในกระต๊อบ รอบสระน้ำไร่ต้นมะขาว ท้ายหมู่บ้านบ้านสวนป่า ต.ก่งศรีภูมิ-บ้านวังวน ต.ภูหอ อ.ภูหลวง จึงได้เก็บไว้เป็นหลักฐาน คาดว่าผู้กระทำความผิดน่าจะมีมากกว่า 2 คนที่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ และเป็นครั้งแรกที่พบกับดักช้าง  

ทั้งนี้ เชื่อว่าชาวบ้านอาจเกิดความโกรธแค้น ช้างที่ออกมากินพืชไร่จนได้รับความเสียหาย และเคยทำร้ายชาวบ้านจนได้รับบาดเจ็บ แม้กระทั่ง เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้เสียชีวิตมาแล้ว ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมานานแล้ว 

ส่วนข้อกล่าวหาใน พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562

1.มาตรา 12 ฐานร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต

2.มาตรา 89 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 12 ถ้ากระทำต่อสัตว์ป่าคุ้มครอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 (แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559)

3.มาตรา 26/4 ผู้ใดกระทำหรือละเว้นการกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการทำลายหรือเป็นเหตุให้เกิดการทำลายหรือทำให้สูญหายหรือเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ผู้นั้นมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายไปนั้น