เลขาธิการ อย.ลงพื้นที่บุรีรัมย์ ต้นกำเนิดแหล่งกัญชา กัญชา ระบุกำลังไปได้สวย เชื่อสามารถรองรับการเปิดประเทศได้ในด้านดูงาน  ชี้ลูกชิ้นยืนกินผสมน้ำจิ้มกัญชาไม่อันตราย ขณะที่เอกชนเริ่มแล้วส่งออกกัญชง เชื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม


วันที่ 20 พ.ย. 2564 นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ระบุหลังนำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่จ.บุรีรัมย์ เยี่ยมชมการดำเนินงานของแหล่งผลิตผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน และปลูกกัญชา กัญชง ในพื้นที่ ว่าเพื่อเป็นการสานต่อและส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชน และประชาชนที่สนใจปลูกกัญชา กัญชง เพื่อนำไปทำผลิตภัณฑ์สุขภาพและพัฒนา นำผลิตภัณฑ์เข้าสู่สนามการแข่งขันทั้งในเวทีระดับประเทศและเวทีโลก ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในชุมชนให้เข้มแข็ง ส่งต่อให้เศรษฐกิจของจังหวัดและประเทศมีความมั่นคง ซึ่งการที่สามารถทำผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีคุณภาพและปลอดภัยเป็นปัจจัยสำคัญในการรองรับนโยบายเปิดประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวที่จะหลั่งไหลเข้าสู่จังหวัด

ทั้งนี้ บุรีรัมย์เป็นแหล่งปลูกพืชกัญชาและกัญชงที่สำคัญของประเทศ จึงเป็นวัตถุดิบที่จังหวัดส่งเสริมให้มีการพัฒนาสายพันธุ์ และนำไปผลิตผลิตภัณฑ์สุขภาพรูปแบบต่าง ๆ อย. ได้เข้าเยี่ยมชมสถานที่ผลิตและแปรรูปกัญชากัญชง 2 แห่ง คือ

(1)วิสาหกิจชุมชนผลิตสมุนไพรเพื่อการแพทย์ ซึ่งมีการปลูกกัญชาในระบบควบคุมแสงในอาคาร (In door) และปลูกในโรงเรือนป้องกันแมลง (กรีนเฮาส์) โดยจะมีการขยายแปลงปลูกในระบบเปิด (Out door) เพื่อหาพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของภาคอีสาน จะได้ลดต้นทุนการปลูกและแปรรูป ช่วยให้เกิดรายได้ที่ยั่งยืน และ

(2) บริษัท สยาม เรวะ (2020) จำกัด ได้รับอนุญาตปลูกกัญชงรายแรกของจังหวัดในแบบระบบปิด มีการควบคุมคุณภาพและนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับใช้ มีการคัดเลือกสายพันธุ์เพื่อให้ได้กัญชงที่มีคุณภาพสำหรับการส่งออกและต่อยอดผลิต

นอกจากนี้ อย.ได้ทำการศึกษาถึงการนำน้ำกัญชา ไปผสมกับน้ำจิ้มลูกชิ้นยืนกิน ที่กำลังโด่งดังไปทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ ทาง อย.ยินดีส่งเสริมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในการใช้กัญชาเป็นส่วนผสมในการผลิตลูกชิ้นเพื่อให้ปลอดภัย

เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวด้วยว่า อย. สนับสนุนให้กัญชาและกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ และที่ผ่านมาได้ปลดล็อกข้อกฎหมายเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ โดยสามารถนำไปเป็นส่วนผสมในการผลิตอาหาร เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สมุนไพร

ล่าสุด พ.ร.บ.ยาเสพติด ฉบับที่ 7 กำลังหมดสิ้นสภาพในวันที่ 9 ธ.ค. นี้ ประเทศไทย จะหันมาใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด และมีการประกาศกฎกระทรวงเกี่ยวกับกัญชาออกตามมา ซึ่งเมื่อประกาศกระทรวงดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้วจะทำให้บุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล สามารถร่วมกับผู้อนุญาตผลิตยาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณ และผลิตภัณฑ์สมุนไพร สามารถ “ขออนุญาตปลูกได้เลย” ไม่จำเป็นต้องรวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชน แต่ยังคงต้องเป็นการปลูกกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น ถึงแม้จะมีข้อจำกัดในเรื่องของการใช้ แต่ก็นับว่าได้มีการคืบหน้าการทลายข้อจำกัดไปได้ดีในระดับหนึ่งแล้ว