ครม.เห็นชอบ ร่างยุทธศาสตร์ระยะยาว มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์โดยเร็วที่สุดภายในครึ่งหลังศตวรรษนี้ ขณะที่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ตั้งเป้าภายในปี 2065

 

น.ส.ไตรศุลี  ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย พร้อมเห็นชอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยประสานงานกลางของอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จัดส่งร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าว ต่อสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาฯ ในช่วงการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม-12 พฤศจิกายน 2564

ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทยนั้น จัดทำขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการร่วมมือกับประชาคมโลก ในการพยายามควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5-2 องศาเซลเซียส โดยมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเข้มข้น ตามข้อ 4 วรรค 19 ของความตกลงปารีส ซึ่งประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายที่จะมีระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด ณ ปี 2030 มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยเร็วที่สุด ภายในครึ่งหลังของศตวรรษนี้ และมีความพยายามในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี 2065 ซึ่งการยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศและการได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงิน เทคโนโลยี และการเสริมสร้างขีดความสามารถจะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายที่ท้าทายนี้ได้

สำหรับยุทธศาสตร์ระยะยาวฯ ของประเทศไทย ได้จัดทำโดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน มีการกำหนดเป้าหมายและมาตรการที่ชัดเจนและสอดคล้องตามแนวทางการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลก 2 องศาเซลเซียส และการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและขนส่งอย่างเร่งด่วน รวมถึงการปรับเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเอกชน ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสและเพิ่มมูลค่าการลงทุนในธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายในปี 2050

นอกจากนี้ การดำเนินมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกยังก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วม (co-benefit) เช่น ประสิทธิภาพการใช้พลังงานของประเทศเพิ่มขึ้น ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหัวประชากรลดลง ทำให้มลพิษทางอากาศ ได้แก่ ออกไซด์ของไนโตรเจน คาร์บอนมอนอกไซด์ PM 2.5 ลดลง โดยการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำของประเทศไทยจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศ