เพจวุ้นเค้กเชียงใหม่ เปิดใจครั้งแรก กรณีถูกตำรวจจับกุมฐานละเมิดลิขสิทธิ์ทำวุ้น-โดราเอมอน พร้อมยอมรับทำผิดจริง

กรณีตำรวจภูธรภูพิงค์ราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ จับกุมเจ้าของเพจเฟซบุ๊กชื่อว่า "วุ้นละมุน เชียงใหม่" ฐานละเมิดลิขสิทธิ์ หลังมีการล่อซื้อเค้กวุ้นลาย-โดราเอมอน ตัวการ์ตูนชื่อดังตลอดกาล จากประเทศญี่ปุ่น ที่มีบริษัทแอนนิเมชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นผู้ดูแลลิขสิทธิ์ในไทย ก่อนเจรจาไกล่เกลี่ย จ่ายค่าปรับเป็นเงินหลายหมื่นบาทนั้น 

ล่าสุดผู้สื่อข่าวลงพื้นที่พูดคุยเจ้าของเพจวุ้นละมุน ยอมรับว่า ทำผิดตามข้อกล่าวหาจริง ก่อนหน้านี้มีการขายวุ้นมานานกว่า 3 ปีแล้ว แต่เปิดขายผ่านเพจเฟซบุ๊ก ไม่มีหน้าร้าน กระทั่งวันที่ 19 เมษายน ลูกค้าสั่งเค้กวุ้นลาย-โดราเอมอน 2 ชิ้น และนัดส่งของวันรุ่งขึ้น จนถูกจับกุมในที่สุด จึงยอมเจรจาจ่ายเงินไกล่เกลี่ย เพราะไม่อยากเสียเวลาต่อสู้คดีชั้นศาล 

ทั้งนี้เจ้าของเพจวุ้น ฝากเตือนผู้ประกอบธุรกิจต่างๆ ต้องระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะถ้าไม่ขออนุญาตตามกฎหมาย ถือว่ามีความผิด 

ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ในฐานะนักกฎหมาย เปิดเผยว่า การทำวุ้นนั้นไม่ได้ผิดกฎหมาย แต่สิ่งที่ผิด คือ วุ้นที่ทำเป็นรูปโดเรม่อนซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของประเทศญี่ปุ่น และ คนไทยที่เป็นเจ้าลิขสิทธิ์ได้ไปซื้อมาเพื่อใช้ในเมืองไทย - เมื่อมีคนนำเอาวุ้นที่มีภาพโดเรม่อนมาขายก็จะถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิ์ ซึ่งทางเจ้าของมีอำนาจที่จะแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าตำรวจได้ 

ทั้งนี้ คนที่ละเมิดจะอ้างว่าไม่รู้ไม่ได้ เพราะ ได้นำลินค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์ไปแสวงหาผลกำไรทางการค้า ซึ่งมีโทษจำคุกและโทษปรับ แต่ถ้าจะยอมความ และ ไกล่เกลี่ยค่าเสียหายกันก็สามารถทำได้ 

ส่วนในเรื่องของการทำวุ้นที่เป็นรูปโดเรม่อน ถ้าจะสู้ในทางคดีอาจจะสู้ได้ เพราะ ถือว่าใช้ลิขสิทธิ์ของคนอื่นที่ไม่กระทบกับเจ้าของลิขสิทธิ์ แต่ก็ต้องประกันตัวมาเพื่อให้ศาลเป็นผู้พิจารณา ถ้าไม่ผิดก็อาจจะยกฟ้อง แต่ถ้าผิดศาลก็จะสั่งปรับ 

สำหรับลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูน อยู่ในหัวข้อลิขสิทธิ์งานศิลปกรรม งานจิตรกรรม ที่สร้างสรรค์รูปทรงด้วยเส้น แสง และสี ถ้านำตัวการ์ตูนใช้หาประโยชน์ทางใดทางหนึ่ง นอกจากชื่นชมคุณค่าตัวงาน ถือว่ามีความผิด ขณะที่ภายใต้บังคับมาตรา 21-22 พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ เรื่องอายุแห่งการคุ้มครองสิทธิ์ ระบุว่า ลิขสิทธิ์ให้มีอยู่ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และมีอยู่ต่อไปอีก 50 ปี นับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย ซึ่งในกรณีตัวการ์ตูน-โดราเอมอน มีบริษัทฟูจิโกะ-เอฟ-ฟูจิโอะ โปร จำกัด นิติบุคคลตามกฎหมายญี่ปุ่น เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ที่มีการโฆษณางานครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2512 ทำให้ลิขสิทธิ์-โดราเอมอน จะหมดลงสิ้นปีนี้ (1 ธ.ค.2562) 

แต่เจ้าของผลงาน สามารถนำตัวการ์ตูนนั้น จดเครื่องหมายการค้าได้ ที่ต่ออายุทุก 10 ปี ทำให้ผลงานมีอายุการคุ้มครองไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับตัวการ์ตูนดังของค่าย-วอล์ท ดิสนีย์

เปิดใจร้านวุ้นเชียงใหม่ถูกฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์ "โดราเอมอน"