นักโบราณคดีชำนาญการ กรมศิลปากร ลงพื้นที่ตรวจสอบเรือไม้โบราณอายุกว่า 100 ปี หลังชาวบ้านค้นพบในคลองพันโตน ต.ปลายพระยา อ.ปลายพระยา จ.กระบี่

วันที่ 4 ก.ย. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธวัชชัย ชั้นไพศาลศิลป์ นักโบราณคดีชำนาญการ หัวหน้ากลุ่มโบราณคดีและอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 12 จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบ เรือไม้โบราณที่ชาวบ้านพบในคลองพันโตน บ้านปากน้ำ หมู่ที่ 1 ต.ปลายพระยา อ.ปลายพระยา จ.กระบี่

ซึ่งชาวบ้านได้นำเรือลำดังกล่าวมาไว้ที่วัดมุขาราม หรือวัดปากน้ำ โดยเจ้าหน้าที่ได้ทำการสอบถามข้อมูลจากชาวบ้านที่พบ ตรวจสอบเนื้อไม้ และวัดขนาดความยาวตัวเรือได้ 6.10 เมตร ส่วนช่วงกลางลำเรือกว้าง 50 เซนติเมตร รวมถึงได้เก็บรายละเอียดข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจุดพบเรือ และวัตถุชิ้นอื่นที่พบพร้อมกับเรือ เพื่อนำไปประมวลกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์เพิ่มเติม เพื่อเตรียมเสนอกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุโบราณ

โดยนายธวัชชัย กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าเรือที่พบเป็นเรือไม้โบราณ หรือที่เรียกกันว่าเรือขุด ซึ่งทำมาจากไม้ทั้งต้น คาดว่าเป็นไม้ตะเคียนทอง อายุเกินกว่า 100 ปี นอกจากนี้ยังมีร่องรอยการขุดเนื้อไม้เป็นตัวเรือ และรอยไหม้จาการลนไฟเพื่อให้เนื้อไม้อ่อนตัวเพื่อขยายความกว้างตัวเรือ ซึ่งเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บ่งชี้ว่าบริเวณชุมชนปากน้ำมีการใช้เรือไม้สัญจรไปมา และลำเลียงสินค้า เชื่อมโยงไปยังคลองอิปัน และคลองแม่น้ำตาปี จ.สุราษฎร์ธานี และจากการสอบถามชาวบ้านทราบว่า บริเวณลำคลองพันโตน นั้นเป็นท่าน้ำของวัดมุขารามหรือชื่อเดิมคือวัดปากน้ำ ซึ่งหลังจากนี้ก็จะได้หาหลักฐานทางประวัติศาสตร์เพื่อทำบันทึกข้อมูลเพิ่มเติม ส่วนตัวเรือก็จะให้ทางวัดและชุมชนดูแล สามารถที่จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และแหล่งเรียนรู้ของชุมชนปากน้ำ อ.ปลายพระยา ได้เป็นอย่างดี สำหรับเรือไม้โบราณ หรือเรือขุด นั้นได้มีการสำรวจพบในหลายพื้นที่ในจังหวัดในภาคใต้ เช่น จ.ตรัง จ.นครศรีธรรมราช และ จ.กระบี่ โดยเฉพาะใน จ.กระบี่ มีการค้นพบแล้วจำนวน 4 ลำ

ขณะที่นายนิวัฒน์ วัฒนยมนาพร กรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรราชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดกระบี่ เปิดเผยว่า นอกจากเรือลำดังกล่าวแล้ว ยังมีเรือโบราณอีกลำ ที่ชาวบ้านพบในลำคลองพันโตน ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางเหนือของของลำคลอง ประมาณ 1 กิโลเมตร ซึ่งจากการตรวจสอบ พบว่า บริเวณที่พบเรือ มีน้ำขึ้นสูงและกระแสน้ำไหลเชี่ยว ชาวบ้านไม่สามารถเอาขึ้นมาได้ หลังจากนี้ต้องรอให้ระดับน้ำลดลง ก็จะทำการกู้ซากเรือขึ้นมาไว้ที่วัดมุขารามต่อไป