ทักษิณกลับไทย ตรวจพบ 4 โรคสำคัญ ราชทัณฑ์แถลงแยกขังเดี่ยวแดน 7 และมีเจ้าหน้าที่ดูแล 24 ชั่วโมงเพื่อความปลอดภัย

22 ส.ค. 66 เมื่อเวลา 13.00น. บริเวณด้านหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ กรมราชทัณฑ์ ร่วมกันแถลงข่าวหลังจากรับตัวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ต้องขังในคดีทางการเมืองมีโทษจำคุกรวม 10 ปี โดยมีนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม, นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ในฐานะโฆษกกรมราชทัณฑ์, นายนัสที ทองปลาด ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร, และนายแพทย์วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์

นายอายุตม์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เผยว่า ภายหลังรับตัวอดีตนายกทักษิณมาแล้ว เจ้าหน้าที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ได้จัดสถานที่เพื่อรองรับกรณีมีญาติมาเยี่ยม เนื่องจากผู้ต้องขังมีญาติ เพื่อน และองค์กรต่างๆ ที่ให้การสนับสนุน และมีความประสงค์ที่จะเดินทางเข้ามาเยี่ยมจำนวนมาก โดยที่ทุกคนสามารถมาลงทะเบียนขอเยี่ยมได้ตามระเบียบของเรือนจำ

และอดีตนายกทักษิณ มีอายุ 74 ปีแล้ว ซึ่งถือว่าอยู่ในกลุ่มผู้ต้องขังสูงอายุ ที่ต้องเฝ้าระวังทั้งเรื่องสุขภาพร่างกาย และอนามัย เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย และขณะนี้ได้แยกตัวผู้ต้องขังไปอยู่ในสถานพยาบาลของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เพียงคนเดียวก่อนเพื่อไม่ให้ปะปนกับผู้ต้องขังคนอื่น

ส่วนแนวทางขนะนี้ ยังไม่ต้องกรอนผมเหมือนผู้ต้องขังคนอื่น เนื่องจากผมยังไม่ยาว และนายทักษิณ ได้ไว้ผมรองทรงซึ่งก็ถือว่า ไม่ยาวมาก รวมทั้งเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ เป็นผู้ใหญ่ที่ทางเรือนจำให้เกียรติ ส่วนเสื้อผ้าที่ใส่เข้าเรือนจำวันนี้ เป็นเสื้อเชิ้ตสีขาว และยังไม่ได้เปลี่ยนเสื้อของทางเรือนจำ โดยจุดแรกเข้าไปประตู 2 ผ่านไปยังประตู 3 ก่อนไปยังจุดตรวจสอบประวัติ พิมพ์ลายนิ้วมือ ถ่ายภาพ ไม่ได้ใช้เวลานาน ไม่มีสีหน้าวิตกกังวล และไม่ได้ร้องขออะไรเป็นพิเศษ

แพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ระบุว่า โรคของนายทักษิณ ดังนี้

1.โรคที่ต้องเฝ้าระวัง มีโรคหัวใจ ขาดเลือด ทานยารักษา

2.ปอดอักเสบรุนแรง จากโควิด มีภาวะผังผืดส่งผลต่อการใช้ชีวิตในเรือนจำ

3.ความดันสูง

4.ภาวะเสื่อมตามอายุ กระดูกสันหลังเสื่อม มีการกดทับเส้นประสาทปวดเรื้อรัง

แนวทางปฏิบัติอยู่ในพื้นที่เฝ้าระวังใกล้ชิดหากมีอาการเจ็บป่วยจะต้องเข้าถึงทันที

ด้านนายสิทธิ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ในฐานะโฆษกกรมราชทัณฑ์ เผยว่า ขณะนี้อดีตนายกทักษิณได้ถูกแยกขังอยู่ในแดน 7 บนชั้น 2 ของอาคารเพียงคนเดียว ซึ่งเป็นห้องปกติไม่มีเครื่องปรับอากาศ มีกล้องวงจรปิด และแพทย์ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อดูแลตามกระบวนการและความปลอดภัย

สำหรับการเข้าเยี่ยมของญาติ ตามระเบียบผู้ต้องขังจะถูกกักตัวก่อน 10 วัน โดยใน 5 วันแรก จะให้เพียงทนายความเข้าเยี่ยมเท่านั้น ส่วนวันที่ 6-10 จะญาติเยี่ยมได้ผ่านแอพลิเคชั่นไลน์ ซึ่งนายทักษิณ ถือว่าเป็นกลุ่มเปราะบาง 608 สามารถเรียกร้องขออาหารเสริม หรือยารักษาโรคเพิ่มเติมได้

นอกจากนี้ นายสิทธิ ยังบอกอีกว่า การขอพระราชทานอภัยโทษ ว่านายทักษิณ สามารถยื่นคำร้องได้ตั้งแต่วันนี้ โดยตัวนายทักษิณหรือญาติ สามารถส่งเอกสารให้ทางเรือนจำฯ ก็ได้ และขั้นตอนหลังจากนี้จะต้องเตรียมเอกสารให้พร้อม และยื่นให้เรือนจำพิจารณา ก่อนที่จะส่งให้กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ก่อนเสนอให้นายกรัฐมนตรีลงนาม ส่งให้สำนักองคมนตรี นำเรื่องขึ้นทูลเกล้าถวาย ซึ่งขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน และหลังจากนี้ก็ขึ้นอยู่กับพระราชอำนาจ ซึ่งส่วนใหญ่จะช้าอยู่ที่ขั้นตอนการรวบรวมเอกสารของผู้ต้องขัง

ซึ่งการขอพระราชทานอภัยโทษมี 2 ประเภท คือเฉพาะบุคคล และเป็นการทั่วไป โดยแต่ละเรื่องจะมีพระบรมราชวินิจฉัยเป็นแต่ละคราวไป

ส่วนนายนัทธี ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรณีที่นายทักษิณ ต้องอยู่ในแดนที่เป็นสถานพยาบาลเพื่อระมัดระวังรักษาความปลอดภัย เนื่องจากเป็นกลุ่มเปราะบาง และยึดหลักความปลอดภัยเป็นสำคัญ โดยใช้ทีมแพทย์และพยาบาลของเรือนจำตรวจร่างกายตลอด สำหรับอาหารของทางเรือนจำ ก็เป็นอาหารตามวงรอบ แต่ก็มีอาหารพิเศษที่มีร้านค้าเปิดจำหน่าย โดยผู้ต้องขังสามารถซื้อได้วันละ 500-600 บาท และเป็นเมนูที่ดีต่อสุขภาพ ไม่มีโซเดียม ส่วนกิจวัตรของเรือนจำ นายทักษิณ ก็ต้องปฏิบัติตามระเบียบเหมือนผู้ต้องขังคนอื่นทั่วไป

ส่วนอาหารมื้อแรกในเรือนจำ ซึ่งเป็นมื้อกลางวัน ที่นายทักษิณ รับประทานเพียงน้ำดื่ม และขนมปังเพียงเล็กน้อย และบอกว่ายังไม่ค่อยหิว ส่วนอาหารมื้อเย็นในเรือนจำวันนี้ เป็นข้าวต้ม และผักต้ม

ด้านนายแพทย์วัฒน์ชัย ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า ญาติของนายทักษิณ ได้นำประวัติการรักษา การตรวจร่างกายแบบ MRI จากการรักษาในโรงพยาบาลที่ต่างประเทศ 2 แห่ง มาประกอบด้วย โดยเบื้องต้นพบว่านายทักษิณกำลังรักษาอยู่ 4 โรค คือ โรคหัวใจขาดเลือด ปอดอักเสบเรื้อรัง ความดันโลหิตสูง และกระดูกสันหลังเสื่อมกดทับเส้นประสาท ซึ่งทั้ง 4 โรคนี้ ก็ถือว่าเป็นโรคที่ต้องใช้แพทย์เฉพาะทางทำการรักษา โดยเบื้องต้นได้เตรียมแพทย์ของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไว้แล้ว แต่หากโรคใดไม่มีแพทย์เฉพาะทางก็จำเป็นต้องส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลที่มีแพทย์เฉพาะทางของโรคนั้นอยู่

ซึ่งตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ การส่งตัวผู้ต้องขังออกไปรักษาภายนอกจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัย หรือการหลบหนีจากการคุมขังอีกด้วย ฉะนั้นจึงต้องใช้โรงพยาบาลของรัฐเป็นหลัก โดยอันดับแรกคือ โรงพยาบาลตำรวจ หรือโรงพยาบาลเฉพาะทางในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุข