ครูและนักเรียนเดือดร้อน หลังมีฝูงนกกระยางขาวกว่า 4,000 ตัว บุกยึดป่าหลังโรงเรียนเป็นที่อยู่อาศัย อุจจาระราดขาวโพลน หวั่นเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคมาสู่นักเรียน ท้องถิ่นต้องเร่งฉีดน้ำไล่ให้ไปอยู่ที่อื่น

วันที่ 23 มิถุนายน 2566 ที่โรงเรียนบ้านสระประทีป ตำบลเสิงสาง อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอเสิงสาง พร้อมองค์การบริหารส่วนตำบลเสิงสาง ปศุสัตว์อำเภอเสิงสาง ร่วมกับผู้นำชุมชน ประชุมหารือหาแนวทางในการจัดการนกกระยางขาว ที่เข้ามาทำรังอยู่บริเวณป่าหลังโรงเรียนแห่งนี้ ซึ่งทำให้คุณครูและนักเรียน ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก หลังจากมีนกกระยางขาวมากกว่า 4,000 ตัว เข้ามาทำรังบริเวณป่าข้างอาคารเรียน สร้างความเดือดร้อน ให้กับครูและนักเรียน โดยเฉพาะเรื่องของกลิ่นอุจจาระของนกที่ขาวโพลนราวกับหิมะ ซึ่งมีจำนวนมาก และ ในช่วงนี้เป็นช่วงหน้าฝน หากฝนตกลงมาใส่จะทำให้กลิ่นยิ่งแรงขึ้น รบกวนการจัดการเรียนการสอนอย่างมาก รวมทั้งยังมีปัญหากรณีนกตกลงมาตาย ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นเน่าไปทั่วบริเวณ แมลงวันก็บินเกาะไข่และขยายพันธุ์จำนวนมาก ซึ่งทางคณะครูหวั่นเรื่องการระบาดของเชื้อโรค โดยเฉพาะไข้หวัดนก ซึ่งจะนำปัญหามาสู่นักเรียนและคณะครู รวมถึงผู้ปกครองก็มีความกังวลใจกลัวบุตรหลานจะติดเชื้อโรคด้วย

โดยนางสาวเสาวคนธ์ พลฉิมพันธุ์ ครูโรงเรียนสระประทีป เล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนก็มีนกบินมาอยู่อาศัยบริเวณป่าดังกล่าวแต่มีจำนวนไม่มาก ก็มีไปๆ มาๆ ปกติ แต่มาในช่วงก่อนเปิดเทอมเดือนเมษายนที่ผ่านมา สังเกตพบว่ามีนกเข้ามาอยู่บริเวณนี้เพิ่มมากขึ้น เพราะเริ่มมีการขยายพันธุ์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คาดว่ามีไม่ต่ำกว่า 4,000 ตัว ซึ่งนกกระยางขาวฝูงนี้น่าจะอพยพมาจากที่อยู่เดิมที่ถูกทำลาย เลยพากันบินมาอาศัยอยู่บริเวณป่าหลังโรงเรียน เพราะเป็นพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์และมีแหล่งน้ำซึ่งเป็นอาหารของนกกระยางชั้นดี

ด้านนายสมพงษ์ คูประทุมศิริ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเสิงสาง จ.นครราชสีมา กล่าวว่า หลังได้รับแจ้งจากโรงเรียน ทางเจ้าหน้าที่ปกครองอำเภอเสิงสาง ได้ประชุมหารือกันร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลเสิงสาง และปศุสัตว์อำเภอเสิงสาง ในการหาวิธีการจัดการขับไล่นกให้ออกจากบริเวณดังกล่าว เนื่องจากอยู่ใกล้โรงเรียน ซึ่งในช่วงนี้จะใช้รถน้ำแรงดันสูง ในการฉีดรบกวนนกที่บริเวณต้นไม้ที่นกมาอาศัยดูก่อน และจะใช้โดรนขนาดใหญ่ ในการบินกวนนกเพื่อขับไล่ให้ไปอยู่ที่อื่นที่ห่างจากชุมชน หาก 2 วิธีแรกนั้นไม่ได้ผล จะลองใช้วิธีที่ 3 คือการกำจัดแหล่งที่อยู่อาศัย อาจจะต้องมีการตัดแต่งต้นไม้ ซึ่งในส่วนนี้ต้องขอศึกษาดูระเบียบในการจัดการอีกครั้งว่าสามารถทำได้หรือไม่ เพราะคิดว่า หากเรากำจัดสถานที่ที่อยู่อาศัยหรือแหล่งทำรังของเขาได้ เขาน่าจะย้ายไปที่อื่น