เจ้าหน้าที่กรมศิลป์ตรวจสอบแล้ว กรณีเจ้าของที่นา อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น ไถปรับที่ดินแล้วพบกระดูกมนุษย์โบราณ พบเป็นโครงกระดูกมนุษย์ยุคเหล็ก อายุนับพันปี เชื่อขุดลึกลงไปอาจเจออีก

วันที่ 21 มีนาคม 2566 นายดุสิต ทุมมากร ผู้อำนวยการกลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น กรมศิลปากร และนักโบราณคดี ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบโครงมนุษย์ที่ชาวบ้านพบในที่นาของนางสาวณัฐฐกาณฑ์ คำชมภู อายุ 52 ปี บ.แวงน้อย ต.แวงน้อย อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น ซึ่งมีที่นาอยู่ทางด้านทิศใต้ของหมู่บ้านแวงน้อย

เจ้าหน้าที่ศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น ได้ทำการสำรวจความสมบูรณ์ของโครงกระดูกมนุษย์ โดยได้วัดโครงร่างพบว่า ยาว 2 เมตร ยังมีฟันล่างและฟันบนที่สมบูรณ์ นอกจากนี้ยังแยกวัตถุโบราณที่แตกเป็นชิ้นส่วน มีทั้งหม้อ กระเบื้อง และเครื่องมือ รวมถึงเศษกระดูกสัตว์ เพื่อนำเก็บไปรักษาที่สำนักงานศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น

นายดุสิต ทุมมากร ผู้อำนวยการกลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น กล่าวว่า จากการสอบถามเจ้าของที่นาทราบว่า มีทั้งหมดจำนวน 12 ไร่ 2 งาน แต่ในพื้นที่ที่พบโครงกระดูกนั้นมีพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ ส่วนโครงกระดูกที่พบเป็นโครงกระดูกมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ยุคเหล็ก อายุประมาณ 2,500 ปี ถึง 1,500 ปี และพบเศษเครื่องปั้นดินเผา หม้อดินมีลายเชือกทาบ และวัสดุที่ใช้สำหรับทำเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งไม่ได้หนาแน่นมาก แสดงว่าการปรับไถดินครั้งนี้อาจจะยังไม่ถึงระดับที่เจอวัตถุโบราณมาก แต่ถ้าขุดลงไปอาจจะเจออีก

“ตอนนี้ต้องขอความร่วมมือจากเจ้าของที่นา ว่าให้พอแล้วสำหรับการปรับไถเพื่อจะรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติที่สำคัญอันนี้ไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษาต่อไป เพราะตรงนี้เป็นเนินดินขนาดใหญ่เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 500 เมตร แต่บางส่วนบริเวณชายเนินถูกปรับเป็นที่นาไปแล้วเหลือแต่ยอดเนินซึ่ง ทางเจ้าของที่ดินก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

นายดุสิต ทุมมากร ผู้อำนวยการกลุ่มโบราณคดี กล่าวอีกว่า พื้นที่ตรงนี้เคยเป็นชุมชนโบราณของบรรพชนคนไทยที่อาศัยอยู่ตรงนี้เมื่อประมาณ 2,500 ถึง 1,500 ปีมาแล้ว ในสมัยที่เราเรียกว่า ยุคหินในช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ทั้งนี้การดูแลรักษาส่วนนี้ ศิลปากรขอนแก่น ได้รับงบประมาณ จากกรมศิลปากร 800,000 บาท เพื่อสำรวจเมืองชุมชนโบราณในเขตจังหวัดขอนแก่น ได้เริ่มงานมาตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันก็ประมาณสี่เดือนแล้ว ซึ่งเมื่อพบก็จะนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดนี้ไปศึกษาวิเคราะห์เพื่อจัดระดับความสำคัญก่อนหน้าหลังว่า ชุมชนไหนที่มีความสำคัญและมีลักษณะโดดเด่น และจะศึกษาพัฒนาต่อ ซึ่งก็หมายความว่าทางกรมศิลปากรให้ความสำคัญกับชุมชนเหล่านี้มาก โดยเฉพาะชุมชนแห่งนี้เป็นตัวอย่างอย่างหนึ่งที่เราเห็นเพราะเนินแบบนี้ และต้องยอมรับว่าภาคอีสานมีเยอะมาก โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นเกือบทุกเนินมักจะเป็นของเหล่านี้

โดยมักจะมีผู้ไม่หวังดีกลุ่มค้นหาของเก่ามักจะเข้ามาหาลักขุด นำเอาเครื่องตรวจโลหะเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิดไปหาซึ่งตามหมู่บ้าน แต่ถ้าชาวบ้านเจอคนมีลักขุดก็ให้แจ้งสำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น จะดำเนินการดำเนินคดีกับบุคคลเหล่านั้นถือว่าเป็นบุคคลที่ได้ทำลายมรดกศิลปวัฒนธรรม ดังนั้นจึงถือว่านะบ้านแวงน้อยแหล่งนี้ ถือว่าเป็นตัวอย่างซึ่งเราจะเก็บไว้เป็นฐานข้อมูลและจะหาแนวทางศึกษาวิจัยต่อไป

ส่วนโครงกระดูกที่พบนั้นยังตอบไม่ได้ว่าเพศหญิงหรือเพศชาย เพราะโครงกระดูกค่อนข้างชำรุดมาก อาจเพราะกาลเวลาหรือมีการชำรุดมาจากอดีตไม่ใช่การชำรุดจากการค้นพบ อาจถูกแรงกดของแผ่นดินทำให้แบนมากโครงกระดูกผุมากต้องขอเวลาวิเคราะห์